คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สู่ทางเลือกใหม่ผู้ป่วยหัวใจตีบที่มีความเสี่ยงสูง ด้วยการรักษาด้วยการหัตถการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวน (TAVI) โดยไม่ต้องผ่าตัด ที่สำคัญปลอดภัย ฟื้นตัวได้เร็ว โดยไม่มีบาดแผล ผู้ป่วยสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
อ.พญ.ทรรศลักษณ์ ทองหงษ์ อาจารย์ประจำศูนย์โรคหัวใจภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจตีบนั้น มักมีอาการแน่นหน้าอกและเหนื่อยง่าย ทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ โดยการรักษาแบบมาตรฐาน ผู้ป่วยจะต้องได้รับการผ่าตัดเปิดช่องอก เพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม ซึ่งการรักษาด้วยการผ่าตัดนี้ก็อาจจะไม่สามารถที่จะทำได้ในผู้ป่วยทุกราย เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีโรคประจำตัวหลายโรค ทำให้ไม่สามารถทนการดมยาสลบหรือผ่าตัดเป็นระยะเวลานานได้
ซึ่งการรักษานี้จะเป็นการใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณขาหนีบ (คล้ายการทำบอลลูน) เมื่อสายสวนไปถึงบริเวณของลิ้นหัวใจที่ตีบแล้ว แพทย์จะทำการปล่อยให้ลิ้นหัวใจเทียมที่มีการม้วนพับอยู่ให้กางออก กลายเป็นลิ้นหัวใจอันใหม่ทดแทนของเดิมที่เสื่อมสภาพเนื่องจากการรักษาด้วยเทคนิค
ข้อดีของการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนนี้ ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่เพื่อเปิดช่องอก แต่แพทย์จะใช้วิธีฉีดยาชาเฉพาะที่ แทนการดมยาสลบ ซึ่งเวลาในการทำหัตถการนี้เร็วที่สุดคือ 1-2 ชั่วโมงผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้เร็ว โดยที่ไม่มีบาดแผล หากไม่มีอาการแทรกซ้อนผู้ป่วยสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดแล้วจนกระทั่งถึงขณะนี้เป็นจำนวน 60 ราย และปลอดภัยทุกรายได้กลับมาดำเนินชีวิตได้ปกติ”
ด้านผศ.นพ.นพพล ทักษอุดม อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอกหัวใจ และหลอดเลือด คณะแพทยศาตร์ มช. เปิดเผยว่า “ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดจะได้รับการประเมินโดยใช้ CT Scan เมื่อมีการวิเคราะห์ X-ray คอมพิวเตอร์เรียบร้อยแล้ว แพทย์จะเตรียมผู้ป่วยเพื่อการผ่าตัดที่มีเครื่อง เครื่องเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปี้ระบบดิจิตอล (Fluoroscopy)ร่วมด้วย และใช้ภาพจากเครื่องนี้ในการประเมินลิ้นหัวใจว่าอยู่บริเวณไหน และมีการตีบมากน้อยแค่ไหน ในความเป็นจริงเราไม่ได้เรียกว่าการผ่าตัด แต่จะเรียกว่าเป็นการทำการหัตถการมากกว่า เพราะแผลผ่าตัดเล็กมาก ประมาณ1 เซนติเมตรเท่านั้นเอง และไม่ต้องตัดไหม ไม่ต้องล้างแผล”
การกำหนดแนวทางในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคลิ้นหัวใจตีบ ปัจจุบันจะใช้ข้อจำกัดความ 2 ข้อ คือผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 80 ปี และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย
โรคลิ้นหัวใจตีบที่มากับผู้ป่วยสูงอายุ จากการสำรวจทั่วโลก ประชากรที่เป็นลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรุนแรง จากอายุที่เพิ่มขึ้นพบมากถึง 3% ในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 75 ปี และ 6% ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 85 ปี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เปลี่ยนลิ้นหัวใจทางสายสวน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. 053-936711, 053-936713
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่