เภสัชกร รพ.สวนดอก เผย อาการแพ้ยารุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ผู้มีประวัติแพ้ยา ควรพกบัตรและแจ้งราย

7 มีนาคม 2568

คณะแพทยศาสตร์

หน่วยติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เผย อาการแพ้ยารุนแรง จนส่งผลให้ปอดอักเสบและเสียชีวิต มีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากมีอาการแพ้หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นหลังได้รับยา ควรรีบมาพบแพทย์ ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยาควรพกบัตรและแจ้งให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกครั้งที่เข้ารับบริการ


ภญ. ธนิสา กฤษฎาธาร หน่วยติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การแพ้ยา เป็นปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งของร่างกาย เกิดจากการที่ร่างกายเห็นว่ายาที่ใช้ในการรักษาโรคเป็นสิ่งแปลกปลอม ทำให้ร่างกายพยายามกำจัดยานั้น ด้วยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันออกมาเพื่อต่อต้านยาและหลั่งสารภูมิแพ้ต่าง ๆ จึงเกิดเป็นอาการแพ้ยา ซึ่งอาการแพ้ยาสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และมักมีอาการหลังรับประทานยาต่อเนื่องนานหลักสัปดาห์ถึงหลักเดือน ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละบุคคล โดยอาการที่พบบ่อยได้แก่ อาการทางระบบผิวหนัง เช่น ผื่นคันตามร่างกายและใบหน้า อาการบวมบริเวณใบหน้า ส่วนในรายที่มีอาการแพ้ยารุนแรงเฉียบพลัน อาจพบอาการผื่นร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น หายใจหอบเหนื่อย หลอดลมตีบ ความดันตก ปวดท้องเฉียบพลัน อาเจียน และอาจเสียชีวิตได้ หากเข้ารับการรักษาไม่ทัน
ภญ. ธนิสา กฤษฎาธาร กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากแพ้ยารุนแรง ส่งผลให้ปอดอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งกรณีแบบนี้มีโอกาสเกิดได้ โดยจากข้อมูลสถิติรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากยา ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประจำปี 2565 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิติจากอาการไม่พึงประสงค์จากยาแบบรุนแรง ร้อยละ 1.97 ยาที่พบเป็นสาเหตุของการแพ้ยารุนแรงบ่อย ๆ ได้แก่ กลุ่มยากันชัก เช่น Carbamazepine ยาลดกรดยูริกและรักษาโรคเก๊าบางชนิด เช่น allopurinol เป็นต้น ส่วนอาการแพ้ยารุนแรงที่นำไปสู่ปอดอักเสบจนถึงแก่ชีวิตได้ อาจเกิดได้หลายประเภท เช่น อาการแพ้ยาทางผิวหนังแบบ Stevens-Johnson syndrome, Toxic epidermal necrolysis โดยจะมีอาการร่วมกับผื่นบริเวณเยื่อบุบางตำแหน่ง เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุในช่องปาก เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ เยื่อบุของอวัยวะสืบพันธุ์ เยื่อบุทางเดินหายใจ และอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ อาจส่งผลให้เกิดปอดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด อวัยวะล้มเหลวและเสียชีวิตได้ , อาการแพ้ยารุนแรงแบบ Dress syndrome มักเริ่มจากอาการไข้ อาจมีต่อมน้ำเหลืองโต ตามด้วยอาการผื่นตามร่างกาย ซึ่งอาการผื่นอาจเป็นผื่นแดงคันทั่วไป หรือเป็นอาการผื่นแพ้ยารุนแรง เช่น Stevens-Johnson syndrome, Toxic epidermal necrolysis ซึ่งจะพบร่วมกับการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายผิดปกติ อย่างน้อย 1 อวัยวะ โดยอวัยวะที่พบมากที่สุด คือ ตับ รองลงมาคือ ปอดและทางเดินหายใจ พบได้ประมาณร้อยละ 30 ของผู้แพ้ยาแบบ Dress syndrome อาจมีอาการไอแห้ง หายใจถี่ร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการของปอดอักเสบ ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบหายใจล้มเหลวจนอันตรายถึงชีวิตได้ และอาจมีอาการแพ้ยารุนแรงรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้มีภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อที่ส่งผลให้เกิดปอดอักเสบได้เช่นกัน


ปัจจุบันมีข้อมูลทางวิชาการที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างยีน HLA (Human Leukocyte Antigen) บางชนิดที่มีในร่างกายกับการเกิดอาการแพ้ยาบางชนิด อย่างรุนแรง เช่น ผู้ที่ตรวจพบว่ามียีน HLA-B*5801 (ผลตรวจ positive) จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดแพ้ยา Allopurinol ซึ่งใช้สำหรับลดกรดยูริกในเลือดและใช้รักษาโรคเก๊าต์ โดยผู้ที่มียีนดังกล่าวจะเสี่ยงต่อการแพ้แบบรุนแรงชนิด Stevens-Johnson syndrome, Toxic epidermal necrolysis และ Dress syndrome ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่ตรวจไม่พบยีน ดังนั้นผู้ป่วยที่มียีนดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เป็นต้น โดยผู้ที่ตรวจพบว่ามียีนดังกล่าว มีโอกาสส่งต่อทางพันธุกรรมได้ เช่น พ่อหรือแม่ที่มียีน HLA-B*5801 ลูกจะมีโอกาสที่จะรับยีนดังกล่าวได้ด้วยเช่นกัน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้ให้บริการตรวจยีนแพ้ยาในยา 5 รายการ ได้แก่ Allopurinol, Carbamazepine, Nevirapine, Abacavir และ Dapsone อย่างไรก็ตามยาส่วนใหญ่ยังไม่สามารถป้องกันการแพ้ได้ เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นกับใครหรือเมื่อไหร่ ดังนั้นหลังเริ่มใช้ยาทุกชนิดควรสังเกตอาการ หากเริ่มมีอาการสงสัยแพ้ยา เช่น ผื่นตามร่างกาย ตาบวม หายใจเหนื่อย ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ
นอกจากนี้ การใช้ยาโดยทั่วไป ควรรับยาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น แหล่งสถานพยาบาล คลินิก ร้านขายยาที่มีเภสัชกร เป็นต้น ไม่ควรใช้ยาชุดที่เป็นยาหลายเม็ดรวมกันในซองเดียว จากคนที่แนะนำมา แต่ไม่รู้ชื่อหรือแหล่งที่มา เนื่องจากหากเกิดอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงขึ้น จะไม่สามารถสืบค้นข้อมูล ทำให้ไม่ทราบชื่อยาที่แพ้หรืออาการข้างเคียง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการครั้งถัดไปได้ง่ายขึ้น กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพ้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และผู้ที่มีประวัติแพ้ยาควรพกบัตรแพ้ยาที่มีรายละเอียดชื่อยาที่แพ้ไว้เสมอ เผื่อเกิดกรณีเหตุการณ์ฉุกเฉิน และควรแจ้งชื่อยาที่แพ้ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย


เรียบเรียง: นางสาวสมัชญา หน่อหล้า
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่