ไข 5 ข้อสงสัย แผ่นดินไหวเชียงใหม่ 20 ตุลาคม 2565

20 ตุลาคม 2565

คณะวิทยาศาสตร์

       เมื่อเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2565 เวลา 04.36 ชาวเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงต่างตกใจตื่นขึ้นมา เพราะแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวขนาด 4.1 ที่บริเวณอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่รับรู้โดยทั่วกันเป็นวงกว้าง ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นก็ตาม

แผ่นดินไหว เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลก เนื่องจากผิวโลกประกอบด้วยแผ่นเปลือกโลกหลากหลาย การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกทำให้หินเกิดการแตก รอยแยกและเลื่อนไถลขาดออกจากกัน เป็น รอยเลื่อน (fault) บริเวณรอยเลื่อนมีการสะสมพลังงานและปลดปล่อยพลังงานความเครียดในหินออกมาในรูปคลื่นไหวสะเทือน แผ่นดินไหวอาจจะเกิดได้ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติเอง หรือการเปลี่ยนแปลงที่มีผลมาจากมนุษย์ก็เป็นได้

Science in Crisis จะมาไข 5 ข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวในครั้งนี้

Q1 : แผ่นดินไหวรอบล่าสุดนี้เกิดจากอะไร
แผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดจากการปลดปล่อยพลังงานที่สะสมตัวในหินตามแนวรอยเลื่อนย่อยดอยสะเก็ด (Doi Saket Segment) ที่มีการวางแนวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นรอยเลื่อนตามแนวระดับเหลื่อมขวา (right-lateral strike slip fault) มีศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวที่ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีขนาด 4.1 แมกนิจูด ที่ความลึก 2 กิโลเมตรจากผิวดิน รอยเลื่อนย่อยดอยสะเก็ดเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา (Mae Tha Fault Zone) ที่แสดงความมีพลังของรอยเลื่อนระดับปานกลาง-สูง (กรมทรัพยากรธรณี, 2562)



ภาพแสดงตำแหน่งที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวที่มีการบันทึกได้ (ภาพจาก United States Geological Survey)

Q2 : มีรอยเลื่อนบริเวณภาคเหนือมากน้อยขนาดไหน
ภาคเหนือของประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนหลักทั้งสิ้น 10 กลุ่มรอยเลื่อน ได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา กลุ่มรอยเลื่อนเถิน กลุ่มรอยเลื่อนปัว ที่มีการวางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ที่มีการวางตัวแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ และกลุ่มรอยเลื่อนเมย ที่มีการวางตัวแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ รอยเลื่อนที่มีพลังส่วนใหญ่ในภาคเหนือเป็นรอยเลื่อนปกติที่สัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของแอ่งที่ราบ เช่น แอ่งเชียงใหม่ แอ่งลำปาง แอ่งแพร่ และรอยเลื่อนตามแนวระดับที่สัมพันธ์กับการเลื่อนตัวของเปลือกโลก


ภาพ : กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังแม่ทา ต้นเหตุของการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ (ภาพจาก สมุดแผ่นที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ฉบับ พ.ศ.2562 โดย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

Q3 : แผ่นดินไหวในรอยเลื่อนนี้ เกิดล่าสุดเมื่อไหร่
รอยเลื่อนนี้ยังนับว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในเขตภาคเหนือตอนบน แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ๆ ที่เป็นที่รู้สึกกันทั่วไปในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานนัก ประกอบด้วย
13 ธันวาคม 2549 ศูนย์กลางการเกิดอยู่ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ขนาด 5.1 แมกนิจูด
18 ตุลาคม 2562 ศูนย์กลางการเกิดอยู่ที่ ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ขนาด 4.1 แมกนิจูด
20 ตุลาคม 2565 ศูนย์กลางการเกิดอยู่ที่ ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ขนาด 4.1 แมกนิจูด



ภาพ : สถานที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งที่ผ่าน ๆ มา (โดย รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ ปรับปรุงจากภาพถ่ายดาวเทียม Landsat)




ภาพ : ข้อมูลแผ่นดินไหวในประเทศไทยและใกล้เคียงล่าสุด (ข้อมูลจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา https://earthquake.tmd.go.th/inside.php )
ข้อมูลแผ่นดินไหวที่มีการบันทึกในครั้งนี้ รวมถึงข้อมูลรับแจ้งการรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากประชาชน : https://earthquake.tmd.go.th/inside-info.html?earthquake=10229


Q4 : มีการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับรอยเลื่อนบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยบ้างหรือไม่
ในด้านวิทยาศาสตร์รากฐาน มีการศึกษาวิจัยด้านธรณีวิทยาที่เกี่ยวข้องกับรอยเลื่อน หรือการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย โดยนักวิจัยไทย เพื่อศึกษาลักษณะของรอยเลื่อน ลักษณะของชั้นหินบริเวณรอยเลื่อน เพื่อใช้ในการศึกษาเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นแล้ว รวมถึงนำไปใช้เป็นข้อมูลเพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งต่อไป อาทิ

- การศึกษาเกี่ยวกับรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ในการศึกษาเรื่อง New Insights Into the Paleoseismic History of the Mae Hong Son Fault, Northern Thailand รวมถึง Paleoseismological Investagations and Seismic Hazard Analysis Along the Mae Hong Son Fault, Northwestern Thailand นำโดย ดร.วีระชาติ วิเวกวิน กรมทรัพยากรธรณี

- การศึกษาโครงสร้างของแอ่งแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ โดยการอาศัยการจำลองเชิงแรงโน้มถ่วง และการออกสำรวจภาคสนาม ในการศึกษาเรื่อง Structure of the Mae On Depression, Chiang Mai province, based on gravity modelling and geological field observation: Implications for tectonic evolution of the Chiang Mai – Chiang Rai Suture Zone, Northern Thailand โดย รศ.ดร.นิติ มั่นเข็มทอง, Dr.Christopher K. Morley และ ผศ.ดร.วีรพันธ์ ศรีจันทร์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

- โครงการวิจัยเกี่ยวกับแผ่นเปลือกโลกและชั้นหินของภูมิประเทศด้านตะวันอออกของรอยเลื่อนทา โดย ดร.พิชาวุฒิ มานพกาวี ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Q5 : มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ๆ ในภาคเหนือไหม
มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยอ้างอิงจากการวัดความมีพลังของรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณี 2562 พบว่า กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา กลุ่มรอยเลื่อนเถิน กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ กลุ่มรอยเลื่อนเมย ถูกประเมินความมีพลังของรอยเลื่อนระดับ ปานกลางถึงสูง จากเกณฑ์ของอัตราการเลื่อน ระดับการสั่นสะเทือน ช่วงเวลาการเกิดซ้ำ การเลื่อนตัวครั้งล่าสุด เป็นต้น


ภาพ : ระดับความมีพลังของรอยเลื่อนในประเทศไทย รอยเลื่อนบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยเป็นรอยเลื่อนมีพลังระดับปานกลาง-สูง (ภาพจาก สมุดแผ่นที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ฉบับ พ.ศ.2562 โดย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)


ถึงแม้ว่าแผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่อาจทำนายได้โดยง่าย แต่ความเข้าใจวิทยาศาสตร์รากฐานที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวและธรณีวิทยา จะช่วยให้เราเข้าใจเหตุการณ์ทางธรรมชาตินี้ และเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราสามารถประเมินความเสี่ยงและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยตั้งอยู่บนความไม่ประมาท โดยการศึกษาข้อมูลและแนวปฏิบัติในการรับมือก่อน ขณะเกิด และหลังเกิดแผ่นดินไหว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของเราเอง

รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูล โดย
อาจารย์ ดร.พิชาวุฒิ มานพกาวี ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ข้อมูลอ้างอิง
- ข่าวสถานการณ์แผ่นดินไหว โดย ThaiPBS https://www.thaipbs.or.th/news/content/320615
- สมุดแผ่นที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ฉบับ พ.ศ.2562 โดย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าถึงได้ที่ https://www.nstda.or.th/library/opac/Book/49609?c=362482287
- Chansom, C., Jitmahantakul, S., Owen, L. A., Wiwegwin, W., & Charusiri, P. (2022). New Insights Into the Paleoseismic History of the Mae Hong Son Fault, Northern Thailand. Front. Earth Sci, 10, 921049.
- Mankhemthong, N., Morley, C. K., & Srichan, W. (2020). Structure of the Mae On Depression, Chiang Mai province, based on gravity modelling and geological field observation: Implications for tectonic evolution of the Chiang Mai–Chiang Rai Suture Zone, Northern Thailand. Journal of Asian Earth Sciences, 190, 104186.


แกลลอรี่