นักวิจัยคณะแพทย์และคณะวิทย์ มช. นำทีมศึกษาความต้องการมีบุตรของสตรีข้ามเพศฯ ในประเทศไทย
21 มีนาคม 2566
คณะวิทยาศาสตร์
นักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำทีมวิจัยศึกษาความต้องการมีบุตรของสตรีข้ามเพศ และผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีเพศกำเนิดเป็นชายในประเทศไทย (Reproductive desires in transgender and gender diverse adults: A cross-sectional study in Thailand)
การศึกษาในครั้งนี้ เป็นการศึกษาแบบ Cross-sectional โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 303 คน (199 สตรีข้ามเพศ; 104 ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย) ที่มาใช้บริการที่ Gender care clinic มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Mplus clinic
ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ได้จากแบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วย 5 ส่วน คือ (1) ข้อมูลทางประกรศาสตร์ (อายุ อาชีพ ศาสนา สถานะทางการเงิน ความสัมพันธ์กับครอบครัว) (2) สถานภาพทางเพศ (3) แบบประเมิน Gender dysphoria (4) แบบประเมินความต้องการมีบุตรแลอุปสรรคในการเข้าถึงบริการการเจริญพันธุ์ (reproductive service) (5) แบบประเมินคุณภาพชีวิต จากนั้นวิเคราะห์และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มตัวอย่าง
ผลจากการวิจัย พบว่า ความต้องการมีบุตรในภาพรวมของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน (30.4%) ในขณะที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอยากมีบุตรที่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด (50.5%) มากกว่า สตรีข้ามเพศ (40.9%) และปัจจัยที่มีผลต่อความต้องการมีบุตร ได้แก่ ความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว ความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับคนรัก และทัศนคติที่ดีจากสังคมที่มีต่อพ่อแม่ที่เป็น LGBTQ
นอกจากนี้ยังพบว่า การเข้าถึงบริการการรักษาภาวะการเจริญพันธุ์ (fertility preservation) ยังมีไม่มากนัก และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับคำปรึกษาเกี่ยวกับภาวะการเจริญพันธุ์ (fertility)
งานวิจัยนี้ช่วยให้ทราบความต้องการมีบุตร และปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการมีบุตรของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีเพศกำเนิดชายและสตรีข้ามเพศ อย่างไรก็ตามการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ (reproductive) ทั้งในรูปแบบของการให้คำปรึกษาและบริการยังคงมีอย่างจำกัด การสนับสนุนของสังคมร่วมกับความสามารถในการให้บริการทางสุขภาพ อาจจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการการเจริญพันธุ์ในกลุ่มสตรีข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศ
งานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร International Journal
of Transgender Health (IF 2021 : 3.138, Q1)
Published online: 12 Jan 2021
ผู้สนใจสามารถอ่านบทความวิจัยได้ที่ https://doi.org/10.1080/26895269.2020.1864560
ทีมวิจัย
ผศ.พญ.ณัฐนิตา มัทวานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.อัญมณี กุมมาระกะ ภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.นพ.อวิรุทธ์ อุ่นอารมย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.ณฐพร มโนใจ มูลนิธิ Mplus, Professor Vin Tangpricha, Division of Endocrinology, Metabolism and Lipids, Department of Medicine, Emory University School of Medicine, Atlanta, Georgia, USA. Section of Endocrinology, Atlanta VA Medical Center, Decatur, Georgia, USA.