Research VDO Series 55 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มช. : โครงการต้นกล้าท้าหมอกควัน

28 กุมภาพันธ์ 2562

คณะวิทยาศาสตร์

โครงการต้นกล้าท้าหมอกควัน เป็น 1 ในโครงการสำคัญที่มุ่งเน้นให้ความรู้และปลุกจิตสำนึกแก่เยาวชนในเขตภาคเหนือตอนบนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน รวมทั้งการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและคนในชุมชน ซึ่งดำเนินงานโดย ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มช.  ด้วยความร่วมมือจากโครงการเมืองไทยไร้หมอกควัน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ด้วยเชื่อว่า "เยาวชน" ในวันนี้ จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีส่วนสำคัญต่อการป้องกันปัญหาหมอกควันได้ในอนาคต

ชมคลิปต้นกล้าท้าหมอกควัน


ชมคลิปต้นกล้าท้าหมอกควัน (full version)

ต้นกล้าท้าหมอกควัน
พลังเล็กๆ สู่การป้องกันปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน

วิกฤติแล้ว เชียงใหม่ ฝุ่นพิษค่าพุ่ง แซงขึ้นติดอันดับ 1 ของโลก! พาดหัวข่าวนี้ไม่ใช่ข่าวลวงและไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด เพราะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา หากใครได้ติดตามข่าวคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ก็จะได้เห็นข้อมูลจากเว็บไซต์ airvisual.com เว็บไซต์รายงานสภาพอากาศจากเมืองต่างๆ ทั่วโลก ที่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีค่าฝุ่นละอองพุ่งสูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก (28 กุมภาพันธ์ 2562) ข่าวนี้คงทำให้คนเชียงใหม่ตื่นตกใจกันอยู่ไม่น้อย เพราะปัญหาฝุ่นควันที่ต้องเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับสูงสุดของโลกอย่างที่เราไม่คาดคิดและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราคงต้องหันกลับมาถามตัวเองว่าแล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อป้องกัน แก้ไข หรือลดปัญหาในอนาคต

ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานหนึ่งซึ่งมีความพยายามในการเข้ามาศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนืออย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยหนึ่งในโครงการสำคัญ คือ โครงการต้นกล้าท้าหมอกควัน ที่มุ่งเน้นให้ความรู้และปลุกจิตสำนึกแก่เยาวชนในเขตภาคเหนือตอนบนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน รวมทั้งการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและคนในชุมชน ด้วยเชื่อว่า "เยาวชน" ในวันนี้ จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีส่วนสำคัญต่อการป้องกันปัญหาหมอกควันได้ในอนาคต ทั้งนี้ โครงการจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2559 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ในปี 2562 นี้ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 ด้วยความร่วมมือจากโครงการเมืองไทยไร้หมอกควัน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โครงการ “ต้นกล้าท้าหมอกควัน” มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และปลุกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนรับรู้ถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากปัญหาหมอกควัน ตลอดจนเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการติดตามตรวจสอบมลพิษที่เกิดจากปัญหาหมอกควันแก่ครู นักเรียน ในเขตจังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งเฟ้นหาโรงเรียนต้นแบบการแก้ไขปัญหาหมอกควัน และสร้างเครือข่ายติดตามตรวจสอบมลพิษที่เกิดจากปัญหาหมอกควัน อีกทั้งเพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้และถ่ายทอดแก่ชุมชน เพื่อลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ของตนเอง ให้ชุมชนสามารถนำไปปฏิบัติจริงเพื่อป้องกันและเตือนภัยในเบื้องต้น

ในปีที่ผ่านมาโครงการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20–24 สิงหาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 36 โรงเรียน รวมจำนวนครูและนักเรียนทั้งหมด 170 คน สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ จัดขึ้นที่อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายในงานมีการแจกต้นกล้าไม้ซับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และธงห้าสีเพื่อใช้ในการแจ้งเตือนชมชุนและโรงเรียนถึงระดับอันตรายของถาวะหมอกควัน มีการบรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์หมอกควันในปีที่ผ่านมา การวางแนวทางสร้างโรงเรียนต้นแบบในการช่วยเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาหมอกควัน อีกทั้งยังมีกิจกรรมลงพื้นที่ศึกษาการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ณ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ภายใต้โครงการวิจัยประเทศไทยไร้หมอกควัน ที่ศูนย์วิจัย สาธิต และฝึกอบรม การเกษตรแม่เหียะ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มช. กล่าวว่า “สถานการณ์มลพิษหมอกควันในภาคเหนือตอนบนตอนบนของประเทศไทย ถือว่าค่อนข้างวิกฤต โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง เพราะมีการเผาค่อนข้างมาก ผนวกกับสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศที่การระบายอากาศเป็นไปได้น้อย ทำให้มลพิษที่เกิดขึ้นในแอ่งต่างๆ ไม่สามารถระบายออกได้ ทั้งนี้ ปัญหาหมอกควันเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องเจอ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะฉะนั้นการที่เราจะปฏิเสธว่ามันไม่ใช่เรื่องของเราคงไม่ได้อีกต่อไป ทุกคนน่าจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเตือนตัวเองหรือคนรอบข้างให้ลดกิจกรรมที่อาจจะมีผลให้เกิดปัญหามากขึ้น และการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องในช่วงของการเกิดมลพิษหมอกควัน เช่น การป้องกันตนเอง การงดการออกกำลังกายกลางแจ้ง อีกข้อหนึ่งสามารถปฏิบัติได้คือ การลดความเสี่ยงของกลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้ป่วย โดยให้อยู่ภายในอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่มีคุณภาพสูง ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มีโครงการหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณภาพอากาศ โดยโครงการต้นกล้าท้าหมอกควัน เป็นโครงการหนึ่งที่มุ่งปลูกฝังให้เยาวชนได้รู้จักปัญหาและการแก้ปัญหาเบื้องต้น เพื่อที่จะลดปัญหาในอนาคต”

“ต้นกล้าท้าหมอกควัน” จึงเป็นโครงการหนึ่งที่แสดงถึงพลังการขับเคลื่อนของเยาวชนในภาคเหนือที่เห็นถึงความสำคัญของปัญหาหมอกควัน และจะเป็นแนวทางการสร้างเครือข่ายเยาวชนรุ่นต่อไป ให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมได้ที่ http://www.esrc.science.cmu.ac.th

ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ติดตามชม Research VDO Series 55 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มช. และ vdo clip อื่นๆ ของคณะได้ที่
Youtube : Science CMU Official

2019 #55thAnniversaryScienceCMU
Research@Sci...From Sky To Rock
Studying@Sci E x p a n d i n g Your Mind
.


แกลลอรี่