รู้จักภาวะมิสซี (MIS-C) ภาวะแทรกซ้อน หลังเด็กหายป่วยจากโควิด-19

7 กรกฎาคม 2565

คณะแพทยศาสตร์

ภาวะมิสซี (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children : MIS-C) คือกลุ่มการอักเสบหลายระบบที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ในเด็ก เป็นภาวะแทรกซ้อน เมื่อหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติไป เป็นภาวะที่พบไม่บ่อย พบน้อยกว่าร้อยละ 1 ของผู้ป่วยเด็ก ที่ติดเชื้อโควิด-19 ปกติเด็กที่พบภาวะนี้ อายุเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 9 ปี จะพบในเด็กผู้ชายมากว่าเด็กผู้หญิง ประมาณ 2-6 สัปดาห์ หลังจากติดเชื้อโควิด-19
จากสถานการณ์จำนวนผู้ป่วยเด็ก และวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปี ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งในขณะนี้จะมีผู้ป่วยสะสมที่เป็นเด็กทั้งหมดตั้งแต่เริ่มมีการระบาด อยู่ที่ประมาณ 7 แสนกว่าราย ในภาคเหนือประมาณ 5 หมื่นกว่าราย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่
สาเหตุในการเกิดภาวะมิสซี (MIS-C)
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าภาวะมิสซี (MIS-C) เกิดจากอะไร เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่อุบัติขึ้นมาใหม่ แต่ทราบว่าเกิดจากการที่เป็นระยะที่ภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัส สูงขึ้นมากเกินไปเมื่อภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ปกติร่างกายจะสามารถกำจัดเชื้อออกไปได้หมด แต่ภูมิคุ้มกันน่าจะจบลง และไม่ทำงานจนมากเกินไป แต่พบว่าในผู้ป่วยที่เป็นภาวะมิสซี (MIS-C) ภูมิคุ้มกันเหล่านี้ทำงานเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ทำให้เกิดมีการอักเสบเกิดขึ้น เกิดการปล่อยสารการอักเสบต่างๆออกมาในร่างกาย
อาการของภาวะมิสซี (MIS-C)
อาการในผู้ป่วยมิสซี (MIS-C) ในช่วงที่ติดไวรัสก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการอะไรเลย หรืออาจจะมีอาการเพียงนิดเดียวไม่ได้รุนแรงมาก เพราะฉะนั้นอาการที่มีในระยะแรกไม่ได้บอกว่าผู้ป่วยจะเป็นมิสซี(MIS-C) หรือไม่เป็นมิสซี(MIS-C) อาการที่ต้องเฝ้าระวังคือหลังจาก 6 สัปดาห์ ที่ผู้ป่วยติดโควิด-19
-ผู้ป่วยจะมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส หากมีไข้หลังจาก 6 สัปดาห์ ที่ผู้ป่วยหายจากการติดโควิด-19
-มีผื่นแดงขึ้นทั่วร่างกาย
-ตาแดง
-ริมฝีปากแดง แตก แห้ง ลิ้นแดง บวมเป็นตุ่ม หลังมือหลังเท้าบวม ในผู้ป่วยบางรายมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
-ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน อาจจะมีถ่ายเหลวได้
-ความดันต่ำ หรือเกิดภาวะช็อค
-ปวดศีรษะ มีอาการชัก
หากผู้ป่วยมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส และมีไข้ หลังจาก 6 สัปดาห์ ที่ผู้ป่วยหายจากการติดโควิด-19 ควรรีบพาเด็กพบแพทย์
สิ่งที่เป็นอันตรายทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะมิสซี(MIS-C)
-อาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อหัวใจได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจจะไม่สามารถบีบตัวได้ตามปกติแบบที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นจะมีภาวะหัวใจวายตามมา มีภาวะบวม หายใจเหนื่อยได้ อาจจะทำให้เกิดภาวะช็อคหรือความดันโลหิตต่ำ เนื่องจากเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงตามอวัยวะส่วนต่างๆได้เพียงพอ
-นอกจากกล้ามเนื้อหัวใจแล้ว ในหลอดเลือดหัวใจ จะเกิดการอักเสบจากภาวะมิสซี(MIS-C)ได้ เมื่อหลอดเลือดหัวใจเหล่านี้มีการอักเสบเกิดขึ้นอาจจะทำให้มีการเกิดลิ่มเลือดอยู่ในหลอดเลือดเหล่านั้น สุดท้ายสามารถไปอุดหลอดเลือดเล็กๆ และทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้
-หากมีการอักเสบหลายระบบ บางครั้งอาจจะทำให้เกิดการทำงานของอวัยวะทำงานได้ไม่ปกติ แล้วเกิดการทำงานล้มเหลวเกิดขึ้น เช่น ถ้าเป็นที่ไตอาจจะทำให้เกิดภาวะไตวายได้ ถ้าเป็นที่ตับ ทำให้เป็นภาวะตับทำงานผิดปกติจนเกิดตับวายได้
ภาวะมิสซี (MIS-C) และ โรคคาวาซากิ แตกต่างกันอย่างไร
-โรคคาวาซากิ เป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดขนาดกลางซึ่งหลอดเลือดขนาดกลางเหล่านี้ ที่พบบ่อยในโรคคาวาซากิ ก็คือหลอดเลือดที่หัวใจเกิดการอักเสบเกิดขึ้น โรคคาวาซากิมีมานาน พบในเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี โดยที่ไม่ได้สัมพันธ์กับการติดเชื้อโควิด-19 เด็กจะมีอาการที่คล้ายคลึงกัน โดยจะมีไข้สูงมากกว่า 5 วัน ร่วมกับมีอาการตาแดง มีปากแดง ปากแตก มีลิ้นสีแดง มีผื่นขึ้นตามตัว มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต มือเท้าบวมร่วมด้วย
-สำหรับภาวะมิสซี (MIS-C) จะพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า มักจะเกิดขึ้นในเด็กอายุ 8-14 ปี โดยสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจาก 6 สัปดาห์ ที่ผู้ป่วยหายจากการติดโควิด-19 ส่วนอาการที่ต่างกัน คือ หากเป็นภาวะมิสซี (MIS-C) จะเน้นอาการที่กล้ามเนื้อหัวใจ เพราะฉะนั้นจะทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกิดภาวะช็อคได้บ่อยกว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคคาวาซากิ ผู้ป่วยมักจะมีอาการระบบทางเดินอาหารมากกว่า มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นใส้อาเจียน มากกว่าผู้ป่วยคาวาซากิ และอีกประการหนึ่งคือทางระบบประสาท ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดศรีษะ อาการชัก จำพวกนี้จะพบเด่นมากกในภาวะมิสซี (MIS-C)
การรักษาภาวะมิสซี (MIS-C)
เมื่อผู้ป่วยเข้าข่ายว่าจะเป็นมิสซี (MIS-C) ส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลทุกราย เพื่อตรวจและยืนยันว่ามีการเป็นมิสซี (MIS-C) และมีภาวะแทรกกซ้อน จริงหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่จะต้องได้รับการเข้ารักษาจากสหสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด เป็นต้น
หากผู้ป่วยมีภาวะช็อค สัญญาณชีพที่ไม่ปกติ แพทย์จะทำการรักษาสัญญาณชีพให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากนั้นแพทย์จะทำการให้ยาอิมมูโนโกลบูลิน ซึ่งเป็นโปรตีนภูมิคุ้มกันที่เข้มข้น เพื่อที่จะทำการลดการอักเสบ ร่วมกับการกดภูมิคุ้มกันที่เรียกว่าสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบลง หากไม่สามารถวินิจฉัยว่าผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ แพทย์อาจจำเป็นจะต้องให้ผู้ป่วยรับยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย โรคนี้จะเพิ่มโอกาสการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด เพราะฉะนั้นจะมีการให้ยาต้านเกล็ดเลือดร่วมด้วย เพื่อลดการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด และกุมารแพทย์โรคหัวใจจะทำการตรวจหัวใจ เพื่ออัลตราซาวด์หัวใจ เช็คการทำงานความปกติของหัวใจ มีความจำเป็นจะต้องทำการรักษาเพิ่มเติมหรือไม่
ทั้งนี้การรักษาจะหายขาดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา หากปล่อยให้มีอาการมากไม่ได้รับการรักษา ส่งผลให้ผลลัพธ์ของการรักษาออกมาไม่ดีต่อการทราบแร็วและได้รับการรักษาที่รวดเร็ว
นอกจากนี้หากมีการรักษาผู้ป่วยหายดีแล้ว ผู้ป่วยยังจะต้องได้รับการทานยาไปซักระยะหนึ่งไม่ว่าจะเป็นยากดภูมิคุ้มกัน ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ในช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ หากผลเลือดปกติ แพทย์จะสั่งให้หยุดได้ ผู้ป่วยทุกรายจะได้ยาต้านเกล็ดเลือด หรือที่เรียกว่าแอสไพริน อย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ และทำการวัดสัญญาณชีพหัวใจซ้ำอีกครั้ง หากหัวใจปกติ แพทย์จะทำการให้หยุดยาแอสไพรินได้ หลังจากนั้นจะทำการติดตามด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจต่อ และประเมินจนกระทั่ง 1 ปี ว่าการทำงานของหัวใจปกติหรือไม่
แพทย์จะแนะนำให้ออกกำลังกาย เมื่อหายจากภาวะมิสซี (MIS-C) หากหัวใจไม่มีความผิดปกติร่วมด้วย แนะนำให้งดออกกำลังกายที่หักโหม หรือเป็นการแข่งขันประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากที่หายมิสซี (MIS-C) แต่ถ้าหากหัวใจผิดปกติร่วมด้วย อาจจะต้องเว้นการออกกำลังกายที่หักโหม ประมาณ 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่ดีที่สุดคือคอยดูแลบุตรหลานไม่ให้ติดโควิด-19 และเด็กจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งได้มีการศึกษามาแล้วว่าการที่เด็กได้รับวัคซีนป้องกันโควิดชนิด MRNA และทำการศึกษาในเด็กวัยรุ่น 2-18 ปี พบว่าหากได้รับวัคซีน 2 เข็ม จะลดการเกิด โควิด-19 ได้ถึง 91 เปอร์เซ็นต์ และพบว่าเด็กที่เป็นมิสซี (MIS-C) ที่ได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก ส่วนใหญ่แล้วเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน นอกจากนี้มีการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่เป็นภาวะมิสซี (MIS-C) และรับวัคซีนหลังจากนั้น พบว่าไม่มีภาวะมิสซี (MIS-C) กลับมาใหม่ เพราะฉะนั้นหากหายจากภาวะมิสซี (MIS-C) แล้ว ควรจะได้รับการฉีดวัคซีน หรือรอเว้นระยะไปก่อนประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นค่อยรับวัคซีนต่อไป.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:ผศ.พญ.วัชรีวรรณ สนธิชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคข้อและรูมาติสซั่ม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#ภาวะมิสซี #MISC #Covid
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU_

แกลลอรี่