หน่วยบริการเคลื่อนที่สำหรับตรวจโควิค-19 เชิงรุก คณะเทคนิคการแพทย์ มช. (Outreach and contactless care services for COVID-19 testing)

24 ธันวาคม 2563

คณะเทคนิคการแพทย์

คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการให้บริการเชิงรุกเพื่อตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโควิด-19 (Outreach and contactless care services for COVID-19 testing) ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อยอดจากจุดบริการแรก ณ ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “หริภุญไชย” จังหวัดลำพูน และแห่งที่สอง ณ ตลาดจริงใจมาร์เกต (Drive - Thru COVID - 19 Testing) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยให้บริการแบบ Drive-Thru และแบบ Walk-in ด้วยวิธีการตรวจแบบ real-time RT PCR เป็นเทคนิคที่ได้มาตรฐานสากล ทำให้ผู้รับบริการสามารถทราบผลการตรวจภายใน 24 ชั่วโมง โดยได้ทำการตรวจมาแล้วมากกว่า 3,000 ราย เนื่องจากในขณะนั้น คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการให้การบริการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกให้กับประชาชนทั่วไป เพื่อให้ทราบถึงสถานะการติดเชื้อของตนเอง นำไปสู่การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและเฝ้าระวังดูแลรักษาตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม อีกทั้งยังช่วยให้หน่วยงานทางสาธารณสุขสามารถสกัดกั้นแหล่งแพร่เชื้อได้อย่างทันท่วงที โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วุฒิชัย คำดวง อาจารย์ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ เป็นหัวหน้าโครงการ


โครงการบริการตรวจโควิด-19 เชิงรุกแบบลงพื้นที่และลดการสัมผัส “Outreach and contactless care services for COVID-19 testing” เป็นหน่วยบริการเคลื่อนที่ ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กร USAID และ Thailand One Health University Network (THOHUN) ในการเปลี่ยนแปลงโมเดลแบบ Drive-Thru เป็นการบริการที่สามารถเข้าถึงคนในชุมชนได้ภายในพื้นที่ของรถบรรทุกคันเดียว โดยสามารถทำการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก ลำคอ และเก็บตัวอย่างเลือด เก็บรักษาสิ่งส่งตรวจ และจัดการกับขยะติดเชื้อจากการเก็บตัวอย่างภายในคราวเดียว โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับบริการแล้วทั้งสิ้น 1,395 ราย (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม – 19 ธันวาคม 2563) แบ่งเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าว พนักงานบริการลูกค้า พนักงานส่งอาหาร พนักงานเทศบาล/พนักงานเก็บขยะ และบุคคลจากพื้นที่เดียวกับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งผู้เข้าใช้บริการตรวจนั้น ผลเลือดเป็นลบทั้งสิ้น ทั้งนี้ เป้าหมายของโครงการอยู่ที่ 1,600 ราย


นอกจากนี้ เราได้ดำเนินการขยายโมเดลนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ในภาคเหนือ เราได้ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกนี้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ทั้งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกับการระบาดรอบใหม่ ตั้งแต่ระบบจองคิวผ่านแอพพลิเคชั่น ตู้เก็บตัวอย่างและวิธีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ และวิธีการตรวจหาเชื้อในทางอณูวิทยา รวมทั้งระบบการรายงานผลออนไลน์ไปยังผู้รับบริการ และหากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง สามารถประยุกต์รถตรวจโควิด 19 ให้เป็นหน่วยบริการเคลื่อนที่ในการตรวจวินิจฉัยโรคอื่นๆ ในชุมชนได้ในอนาคต ช่วยลดการเดินทางมาโรงพยาบาลของประชาชนและช่วยลดความแออัดของผู้รับบริการในโรงพยาบาล ซึ่งก็นับว่าเป็นงานบริการวิชาการรับใช้สังคมและชุมชนอีกรูปแบบหนึ่ง อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีผลกระทบสูงต่อสังคมและชุมชน
 

แกลลอรี่