กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มช. แนะผู้ปกครองเร่งพาบุตรหลานรับวัคซีนโควิด-19 ย้ำเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ติดต่อง่าย และกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ชี้เด็กวัย 5-11 ปี ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มแรกไปแล้ว 28% ทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2565) และเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ควรรับวัคซีนให้เร็วที่สุด
รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ สายพันธุ์หลักที่ก่อให้เกิดการระบาดเกือบ 100% เป็นสายพันธุ์โอมิครอน โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าตั้งแต่ต้นปี 2565 ถึง 16 กุมภาพันธ์ พบเด็กติดเชื้อโควิด-19 สูงถึง 21.5% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด และยังพบการติดเชื้อในเด็กวัยเรียนที่มีอายุ 6-12 ปี เป็นสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยโอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่ติดต่อได้ง่าย จึงทำให้เกิดการระบาดภายในครอบครัวเป็นหลัก และสถานศึกษาหลายแห่งเริ่มมีการเปิดเรียนแบบ on-site จึงอาจมีการติดเชื้อภายในโรงเรียนได้เช่นกัน ประกอบกับเด็กในวัยนี้ส่วนมากยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จึงส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในเด็กมากขึ้นในช่วงเวลานี้ แม้ว่าเด็กส่วนใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 จะไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุ แต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสม โดยภาวะแทรกซ้อน 2 ภาวะที่อาจพบได้ คือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก (MIS-C) และอาการแทรกซ้อนแบบเรื้อรัง (Long COVID)
ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับเด็กวัย 5 –11 ปี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย มี 2 กลุ่ม ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA คือ วัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) และวัคซีนชนิดเชื้อตาย คือ วัคซีนซิโนแวค และวัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในเด็ก 6 ปีขึ้นไป โดยวัคซีนสูตรหลักสำหรับเด็ก 5-11 ปี ที่แนะนำโดยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนี้ คือ วัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) 2 เข็ม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ห่างกัน 8 สัปดาห์ สำหรับวัคซีนสูตรทางเลือก (สำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป) คือ วัคซีนสูตรไขว้ ที่ให้วัคซีนซิโนแวคหรือซิโนฟาร์มเป็นเข็มแรก ตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์(ฝาสีส้ม) เป็นเข็มที่2 ห่างกัน 4 สัปดาห์ สำหรับผู้ปกครองที่อาจมีความกังวลใจในการฉีดวัคซีนชนิด mRNA
สำหรับเด็กที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตาย เช่น วัคซีนซิโนแวคหรือวัคซีนซิโนฟาร์ม มาแล้ว 2 เข็ม วัคซีนสูตรนี้ถือเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมได้ดี แต่อาจไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมถึงสายพันธุ์โอมิครอน ดังนั้นคำแนะนำในปัจจุบัน คือ เด็กในกลุ่มนี้ควรรับวัคซีนเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) เมื่อครบ 1 เดือนหลังฉีดเชื้อตายเข็มที่ 2 แล้ว เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงที่สุด”
อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในส่วนเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง แนะนำให้มารับวัคซีนโดยเร็ว เนื่องจากหากมีการติดเชื้อ อาจเกิดโรครุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนถึงแก่ชีวิตได้ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคมะเร็ง ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงเด็กที่มีพัฒนาการช้า โรคทางพันธุกรรม และโรคระบบประสาทผิดปกติอย่างรุนแรง
สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้ว หากยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) จำนวน 2 เข็ม เริ่มที่ 12 สัปดาห์ นับจากวันที่เริ่มมีอาการหรือผลตรวจพบเชื้อ แต่หากเคยได้รับวัคซีนมาก่อนที่จะมีอาการป่วย 1 เข็ม แนะนำให้ฉีดวัคซีนอีก 1 เข็ม ที่ 12 สัปดาห์ นับจากวันที่เริ่มมีอาการหรือผลตรวจพบเชื้อเช่นกัน ส่วนเด็กที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว และมีการติดเชื้อโควิด-19 ภายหลัง ในปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3
อาการข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กวัย 5-11 ปี พบได้เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ จึงจำเป็นต้องให้เด็กอยู่สังเกตอาการเป็นเวลา 30 นาทีหลังฉีด ณ สถานพยาบาล นอกจากนั้นเด็กอาจมีอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนได้ ซึ่งอาการเหล่านี้มักไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง ส่วนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่มีรายงานตามหลังการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ยังพบรายงานน้อยมาก แต่แนะนำให้เด็กงดการออกกำลังกายอย่างหนักหรือกิจกรรมที่ต้องใช้แรงอย่างมาก ในช่วง 1 สัปดาห์ หลังได้รับวัคซีน
ผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สามารถแจ้งสถานศึกษาที่เรียนอยู่ โดยแสดงความยินยอมให้ฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันไม่ให้บุตรหลานของท่านป่วยด้วยโรคโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งติดต่อได้ง่ายมาก การพาบุตรหลานไปรับวัคซีนชนิดที่มีในปัจจุบัน ถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคโควิด-19
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่