การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงานโดยอาศัยกลไกที่เน้นการประสานความร่วมมือแบบบูรณาการ ถือเป็นโมเดลที่มีศักยภาพและเห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ดังเห็นได้จากโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามประกาศกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการภายใต้โครงการฯ โดยมุ่งเป้าทั้งการสร้างงานและเสริมประสิทธิภาพให้กับกำลังแรงงานสมัยใหม่ บัณฑิตจบใหม่ ด้วยการเข้าไปทำงานในชุมชนร่วมกับมหาวิทยาลัย หน่วยวิจัย และผู้ประกอบการ SMEs จัดกระบวนการเรียนรู้ และลักษณะงานครอบคลุมงานเก็บข้อมูลของชุมชน งานบริการวิชาการในชุมชน งานในบทบาท Research assistant ในชุมชน งานในฐานะผู้ช่วยสอน ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพด้าน Start up ซี่งโครงการได้เสร็จสิ้นไปแล้วและมหาวิทยาลัยได้จัดงานปัจฉิมนิเทศเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา และพร้อมต่อยอดในโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย
โครงการจ้างงานประชาชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 สามารถจ้างงานได้มากถึง 8,300 กว่าอัตรา เป็นเงินงบประมาณกว่า 73,500,000 บาท ซึ่งถือเป็นความสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ สามารถผลักดันให้เกิดผลงานหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ เช่น การลงพื้นที่เก็บข้อมูลโครงการภูมิปัญญาท้องถิ่นชาติพันธุ์กับการจัดการไฟป่า โครงการการเพาะเลี้ยงปลาอาชีพ โครงการเพิ่มศักยภาพ ทักษะอาชีพทางการเกษตรผ่านศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) โครงการจ้างงานนักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัดและนักกิจกรรมบำบัด ที่จบใหม่แต่ยังไม่ได้งาน เพื่อช่วยส่งเสริม ดูแลฟื้นฟูสุขภาพคนในชุมชน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล เป็นต้น
หลายโครงการสามารถนำไปพัฒนาข้อเสนอในระยะที่ 3 คือ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย โดยเป้าหมายหลักของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คือ การลดความยากจนแบบมีเป้าหมาย รวมถึงการยกระดับตำบลที่มีความพร้อมสูงไปสู่ระดับความยั่งยืน ทั้งนี้ ในการดำเนินการในพื้นที่จะเป็นไปตามบริบท สภาพปัญหา สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สำคัญของแต่ละพื้นที่ โดยจะเป็นการนำองค์ความรู้เทคโนโลยี นวัตกรรมของมหาวิทยาลัย ไปช่วยในการจ้างงานที่ตอบสนองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในตำบล
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการเดินหน้าให้เกิดการสร้างงาน และสร้างกำลังแรงงานรุ่นใหม่ที่เชื่อมโยงกับท้องถิ่น เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจที่เรียกว่า local economy ที่สามารถขับเคลื่อนและพึ่งพาตนเองได้ เสริมสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมต่อไป