พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. คว้ารางวัลพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่น ประจำปี 2563 (Museum Thailand Awards 2020) ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านสังคม ศิลปะและวัฒนธรรมดีเด่น ด้านการอนุรักษ์และสืบสาน
18 กันยายน 2563
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 ณ ซี อาเซียน ออดิทอเรียม (C Asean Auditorium) อาคารไซเบอร์เวิลด์ กรุงเทพมหานคร ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลาวัณย์ เศวตเศรนี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ารับรางวัลพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่น ประจำปี 2563 (Museum Thailand Awards 2020) ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านสังคม ศิลปะและวัฒนธรรมดีเด่น ด้านการอนุรักษ์และสืบสาน ที่จัดขึ้นโดย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ โดยมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เป็นผู้มอบรางวัลดังกล่าว
โดยรางวัล Museum Thailand Awards 2020 จัดขึ้นโดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้บุคลากรที่ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ พร้อมทั้งกระตุ้นให้พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในประเทศไทยเกิดความตื่นตัวในการพัฒนาตัวเองให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีทั้งคุณภาพของการบริการ และมาตรฐานพิพิธภัณฑ์ตามแบบสากล
สำหรับพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแสดงเรือนและอาคารโบราณซึ่งมาจากหลากกลุ่มชนคนไท (ไต) ในล้านนา (บริเวณแถบลุ่มแม่น้ำปิง) เคลื่อนย้ายจากแหล่งปลูกสร้างเดิมมาจัดแสดง ในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ฯกลางแจ้ง มีความร่มรื่นของต้นไม้เก่าแก่นานาพรรณ โดยเรือนที่นำมาจัดแสดง ได้รับการบริจาคจากทายาทเจ้าของเรือนมอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อการอนุรักษ์ และเป็นประโยชน์ทางการศึกษา ทั้งนี้เรือนแต่ละหลังที่ได้รับมาจะใช้วิธีการชะลอนำมาอนุรักษ์ซ่อมแซมและปลูกสร้างในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ซึ่งอยู่ในความดูแลของของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้คงสภาพโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมเดิมมากที่สุด เรือนแต่ละหลังมีลักษณะเฉพาะและมีความต่างยุคสมัยในช่วงระยะเวลาที่ได้ปลูกสร้าง มีอายุประมาณเกือบและกว่าร้อยปี อันทรงคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรม ดังนั้นการจัดแสดงฯ มีความประสงค์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรมเรือนพื้นถิ่น (แถบลุ่มแม่น้ำปิง) วิถีชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ในเรือนเหล่านี้ ผ่านการเข้ามาเยี่ยมชม และศึกษาข้อมูลความรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มคนไท (ไต) ในล้านนา มาสัมผัส เรียนรู้จักและสร้างประสบการณ์ จากการเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเข้าร่วมอบรมหลักสูตรระยะสั้น (short Course) และอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) สำหรับบริการสาธารณชน ทั้งจากสถาบันการศึกษา นักท่องเที่ยว และชุมชนในทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและนานาชาติ นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. มุ่งเน้นการดำเนินการบูรณาการกับเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมและชุมชนท้องถิ่น เพื่อรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ วารสารสิ่งพิมพ์ เพื่อเผยแพร่ ผ่านสื่อออนไลน์ อีกทางหนึ่งด้วย
โดยพิพิธภัณฑ์มีจุดเด่นในเรื่องเรือนและอาคารโบราณ ซึ่งมาจากหลากกลุ่มชนคนไท (ไต) ในล้านนา (แถบลุ่มแม่น้ำปิง) การอนุรักษ์ สืบสาน ถ่ายทอด และพัฒนาประยุกต์ต่อยอด องค์ความรู้วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ศิลปะและวัฒนธรรม ผ่านเรือนโบราณล้านนาของพิพิธภัณฑ์ฯ นิทรรศการ ผ่านเรือนโบราณล้านนาของพิพิธภัณฑ์ฯ การจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) และอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ด้านศิลปะและวัฒนธรรม (หัตถศิลป์ ศิลปกรรม ดนตรี อาหารการกินอยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มการแต่งกาย ฯลฯ)
ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถติดต่อได้ที่ 053 943625-6