วิศวฯ แพทย์ฯ มช. แทคทีมสู้ Covid-19 สร้าง ERC พร้อมหุ่นยนต์ CMU Aiyara และนวัตกรรมกักกันเชื้อ อธิการบดี มช. เข้าเยี่ยมชมความสำเร็จ

30 เมษายน 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต ในนามผู้แทนนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย เข้าเยี่ยมชมห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ Emergency Room for COVID: ERC, หุ่นยนต์ผู้ช่วยพญาบาล CMU Aiyara Robot และต้นแบบอุปกรณ์กักกันเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็น 3 จาก 5 ภารกิจตามโครงการความร่วมมือระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับโรคติดเชื้อ COVID-19 ณ ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563

ในโอกาสเดียวกันนี้ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน พร้อมแจ้งวัตถุประสงค์และความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับโรคติดเชื้อข้างต้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ ฯ และการสนับสนุนจากฝ่ายต่าง ๆ พร้อมด้วย ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์นเรนทร์ โชติรสนิรมิต คุณวิวรรธน์ พงษ์เรืองเกียรติ นักศึกษาเก่า วิศวฯ มช. รุ่น 11 และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยศธนา คุณาทร อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ตัวแทนกลุ่มวิศวกรอาสาพหุภาคีอธิบายหลักการออกแบบ การสร้าง และการใช้งานเชิงเทคนิคของ ERC ห้องกักกันเชื้อ และระบายอากาศที่บำบัดสกัดเชื้อก่อนปล่อยออกไป (Negative Pressure Room) ขนาดประมาณ 100 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องผู้ป่วย 4 ห้อง และห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยขั้นรุนแรงจากโรคระบาดดังกล่าว

จากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระพงษ์ ว่องรัตนไพศาล ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงศิริอนงค์ นามวงศ์พรหม ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ร่วมกันบรรยายหลักการออกแบบ การสร้าง การทำงาน พร้อมสาธิตหุ่นยนต์ CMU Aiyara ที่ใช้ส่งอาหาร ยา แก่ผู้ป่วย ตรวจวัดอุณหภูมิ และอาการ ทั้งยังเก็บภาชนะเดิม รวมถึงเสื้อผ้าใช้แล้ว หรือขยะออกจากห้องผู้ป่วย เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 3 – 4 กม./ ชม. ใช้รีโมทควบคุมพร้อมจอมอนิเตอร์ เพื่อสื่อสารโดยเห็นหน้ากันได้ ระหว่างผู้ป่วยกับทีมแพทย์ และพยาบาลผ่านอินเตอร์คอม

ตามด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชวาลย์ ชัยชนะ และรองศาสตราจารย์ ดร.กลยุทธ์ ปัญญาวุธโธ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวถึง การประดิษฐ์ต้นแบบอุปกรณ์กักกันเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ อันประกอบด้วย นวัตกรรม 3 ชิ้น คือ ต้นแบบเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบความดันลบ มุ้งความดันลบสำหรับกักกันเชื้อจากเตียงผู้ป่วย และตู้ Swab สำหรับการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อ โดยอุปกรณ์ต้นแบบทั้งสาม มีกล่องดูดอากาศและฆ่าเชื้อด้วยแสง UVc แล้วกรองด้วย HEPAก่อนปล่อยสู่อากาศ เพิ่มความปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน ลดการฟุ้งกระจายของเชื้อโรคออกจากผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ และปิดท้ายด้วยการกล่าวขอบคุณ และชื่นชมยินดีจากอธิการบดี มช.


ท้ายสุดนักศึกษาเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. รหัส 30 (เกียร์ 18) ได้มอบเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบให้แก่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ด้วย

ข้อมูลโดย : คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่