มช. CAMT ร่วมกับ BAAK จับมือ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เปิดตัวระบบ home isolation ช่วยเหลือ ผู้ป่วยสำหรับดูแลผู้ป่วยที่บ้านผ่าน Line ใช้ง่ายใกล้ชิด

2 กันยายน 2564

วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี

     จากสถาการณ์ปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากขึ้น ซึ่งเกินกว่าศักยภาพของโรงพยาบาลจะรับผู้ป่วยเข้ารักษา (Admit) ทั้งหมดได้ ก่อให้เกิดปัญหาการรอคอยเตียงและการดูแลผู้ป่วยค่อยข้างยากลำบาก การดูแลผู้ป่วยที่บ้านทำได้ยาก เนื่องจากต้องมีการบันทึกข้อมูล และประเมินอาการอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้การดำเนินการ ติดตามอาการและบันทึกข้อมูลในระบบเวชระเบียนปกติไม่สามารถทำได้ ซึ่งเป็นความท้าทายต่อการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาบูรณาการ อำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการ ในภาวะเร่งด่วนและต้องการใช้งานระบบในระยะเวลาอันสั้น

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิด เผยว่า ได้รับการติดต่อจากทีมแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อขอคำแนะนำในการออกแบบ พัฒนาระบบ home isolation โดยการระดมทีมงานคณาจารย์ในวิทยาลัย ฯลฯ ที่ทำวิจัยด้านระบบเวชสารสนเทศ (Medical informatics) ระดมสมองเพื่อพัฒนาระบบโดยเร่งด่วน เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้าสู่ระบบ ของโรงพยาบาลซึ่งเกิดขีดความสามารถรับได้ วิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยีโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรวิชย์ ถิ่นนุกูล หัวหน้ากลุ่มวิจัยความเป็นเลิศด้านระบบปฏิบัติการฝังตัวและโมบายแอปพลิเคชันด้านวิทยาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ประงานงานและดำเนินการร่วมกับ สตาส์อัพของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บริษัทบีเอเอเค จำกัด (BAAK) โดยอ่างแก้วโฮลดิ้งได้ร่วมทุนกับ Banana ซึ่งเป็นบริษัทด้านไอทีที่มีเชื่อเสียงที่เป็นผู้ทำระบบหลังบ้านงานวิ่งมาราธอน โดยให้บริการทั้งภายในองค์กรของมหาวิทยาลัยและภายนอกนำ Platform Solution ด้านสุขภาพมาพัฒนาต่อยอดเพื่อให้สอดรับกับฟังก์ชันของการดูแลผู้ป่วย

       โดยการใช้งานระบบสารสนเทศ ในระยะแรกก่อนมีระบบ Home Isolation นี้ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าพบปัญหา เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคกลุ่มเสี่ยง ทำให้ไม่สามารถใช้ social media ได้ทำให้ต้องใช้ระบบที่เข้าถึงผู้ป่วยได้ง่าย ไม่ต้องลง application ใหม่ ในช่วงแรกจึงใช้งาน Line application และบันทึกข้อมูล ติดตามผู้ป่วย ด้วย Google Form และ Google Sheet โดยมีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้ป่วยมีปริมาณเพิ่มขึ้น พบปัญหาว่า การเก็บข้อมูลด้วย Google ประมวลผลช้า ไม่เสถียร และมีโครงสร้างที่ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ พยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยนอกที่ตั้งได้ จึงเป็นที่มาของการออกแบบและพัฒนาระบบ home isolation อย่างเร่งด่วนซึ่ง ทีมแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า นำโดย พ.ท น.พ. วศิน วาสิกะสิน, พ.ต (ญ) พ.ญ.ณัชพร นพเคราะห์, พ.ญ.จันทิมา ตรัยพัฒนกุล ร่วมกับทีมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

        โดยในระยะเวลาเร่งด่วนดังกล่าว การดำเนินโครงการ “ศูนย์ประสานงานดูแลผู้ป่วยโควิด-19” ของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้วางแผนโดยมีกรอบดำเนินงานแบบ Home isolation แต่เปลี่ยนรูปแบบจากการรับดูแลผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงตามแนวทางของ Home isolation ทั่วไป เป็นมุ่งเน้นการรับผู้ป่วยมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่เสี่ยงสูงที่จะมีอาการหนัก เพื่อลดโอกาสในการกลายเป็นผู้ป่วยอาการรุนแรง ซึ่งโรงพยาบาลรับดูแลผู้ป่วยในสังกัดทั้งหมด แม้ว่าจะตรวจพบเชื้อจากสถานพยาบาลอื่น โดยมีเกณฑ์เพียง 2 ข้อ คือ ผู้ป่วยต้องไม่มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ และไม่ได้ฟอกไตทางหลอดเลือดผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา จะได้รับการเอกซเรย์ปอดทุกรายในวันแรกที่เข้ารับการรักษา และให้ยาต้านไวรัส favipiravir ในเมื่อมีความเสี่ยงหรือมีภาวะปอดอักเสบ ร่วมกันให้ยากดภูมิสเตียรอยด์ ในเมื่อเริ่มมีภาวะออกซิเจนต่ำ นอกจากนี้ยังได้รับการติดตามอาการ โดยจัดชุดวัดไข้ ร่วมกับเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เพื่อติดตามอาการ ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ผ่านทางระบบ line รวมทั้งมีการส่งอาหารให้ผู้ป่วย 3 มื้อ 

        ปัจจุบันระบบได้นำไปใช้งานกับผู้ป่วยในการดูแลของ ศูนย์ประสานงานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าแล้ว โดยใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ ในการพัฒนาระบบและเชื่อมกับระบบเวชระเบียนเดิม ของ รพ. โดยในส่วนของระบบ home isolation ส่วนผู้ใช้งาน (ผู้ป่วย) และส่วนผู้ดูแล (ทีมแพทย์ พยาบาล) ถูกออกแบบให้เน้นการใช้งานง่าย ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลเบื้องต้น และการประเมินอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการประสานงานระหว่างทีมแพทย์และทีมพยาบาล เพื่อให้สังเกตแนวโน้มอาการของผู้ป่วยที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับระบบเวชระเบียนของโรงพยาบาล ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำ ลดขั้นตอนงานเอกสาร และลดจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ในการประสานงาน เพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์สำหรับใช้ในการดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น ทั้งนี้ในปัจจุบันทีมนักพัฒนาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พัฒนาระบบการจองเตียงผู้ป่วย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเตียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนภารกิจในการดูแลผู้ป่วย home isolation ที่สอดรับกับนโยบายภาครัฐและเตรียมความพร้อมหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม/ใช้งานระบบ Home isolation ติดต่อ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรวิชย์ ถิ่นนุกูล Email: orawit.t@cmu.ac.th
พ.ต (ญ) พ.ญ.ณัชพร นพเคราะห์ 0-2763-3280 (ภาควิชาอายุรศาสตร์ กศ.วพม.)
BAAK Email: contact@baak.company

#CMU #ChiangMaiUniversity #มช #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน #CMUSDGs #CMUSDG3 #CMUSDG9 #CMUSDG17

แกลลอรี่