มช. เทรนผู้ประกอบการ พร้อมรับเปิดประเทศ ชู Gastronomy Tourism เมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนาแบบใหม่

8 กุมภาพันธ์ 2565

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

เริ่มแล้วกับนโยบายมาตรการการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะร้านค้า ร้านอาหาร เตรียมแผนรับมือ หากลยุทธุ์ต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชูโครงการ Gastronomy Tourism ภายใต้แนวคิด “คิดถึงเชียงใหม่” ฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด-19 ช่วยผู้ประกอบการรังสรรค์อาหารด้วยวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารล้านนา มาเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยคาดว่าเมื่อดำเนินการแล้วจะสร้างรายได้ให้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้ประกอบการธุรกิจบริการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีรายได้เพิ่มขึ้นราว 500 ล้านบาท ช่วยสร้างภาพลักษณ์เมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนาแบบใหม่ และเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวคุณภาพในปี 2564 ได้มากกว่า 50,000 คนเรียกว่าเป็นจุดหมายสำคัญที่สะท้อนให้เห็นความพยายามที่อยากให้การท่องเที่ยวได้กลับมาเดินหน้าต่อได้

โครงการนี้ถูกขับเคลื่อนโดย ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า “ศูนย์ FIN” ด้วยการหยิบยกความอร่อยของวัตถุดิบในท้องที่ต่างๆ ขึ้นมาเป็นตัวชูโรงร่วมกับการท่องเที่ยว มีเป้าหมายในการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนาแบบใหม่ แสดงความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่สามารถเผยแพร่ให้ออกสู่สากล ผ่านตัวกลางทางด้านอาหาร ซึ่งได้ทำการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่มีอยู่มาพัฒนากิจกรรมใหม่ๆ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ในการจัดตั้งกลุ่มผู้ที่มีความรู้และสนใจในเรื่องราวของอาหารเพื่อมาพูดคุยแลกเปลี่ยนจนนำไปสู่ความร่วมมือด้านอาหารเพื่อการพัฒนา Gastronomy ในท้องถิ่น รวมถึงการจัดกิจกรรมให้ผู้ประกอบการได้ทำเวิร์คช็อปสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่ที่เป็น Signature ของแต่ละร้าน ผ่านร้านอาหารชื่อดังด้วยเชฟที่ผ่านการ Training โดยใช้หลัก Michelin Star และข้อกำหนดสุขาภิบาลอาหารปลอดภัย เชื่อมสู่การสร้าง Story Telling กับแหล่งท่องเที่ยว จัดการแข่งขันพัฒนาผลิตอาหารล้านนารูปแบบใหม่ และการประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง โดยผ่านการทำ Digital Marketing, Wonder Food Festival ต่าง ๆ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการ Gastronomy Tourism จะพลิกเศรษฐกิจของเชียงใหม่ให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง ด้วยอาหารล้านนาที่ปรุงอย่างสร้างสรรค์ เป็นเมนูที่มีความงดงาม เพิ่มมูลค่า สร้างความยั่งยืน และทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจ เกิดเป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวในรูปแบบอาหารในจังหวัดเชียงใหม่ ท้ายที่สุดจะเป็นพลังให้ผู้ประกอบการเกิดแรงบันดาลใจ มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน และสามารถพึ่งพาตนเองได้อีกครั้ง