คณะแพทย์ มช. เปิดตัวห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ แห่งแรกในภาคเหนือ

14 พฤษภาคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดตัวห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ ( Negative Pressure Room for Emergency Department ) แห่งแรกในภาคเหนือ ลดการแพร่กระจายของเชื้อ เพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคลาการทางการแพทย์และผู้มาใช้บริการ


ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า "ด้วยสถานการณ์การระบาดของ COVID 19 ที่ขยายเป็นวงกว้างในช่วงปลายเดือนมีนาคม คณะแพทยศาสตร์ ได้ระดมความคิดจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การตอบสนองต่อการเจ็บป่วยของผู้ป่วยจำนวนมาก ได้รับการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบเวลาที่จำกัด จึงได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นเพื่อตอบสนองการระบาดอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว


จากสถานการณ์การระบาดของCOVID-19 อาจทำให้มีผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคนี้เจ็บป่วยฉุกเฉิน อาการหนักและมาใช้บริการห้องฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมาหากผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะมีการติดเชื้อ จะได้รับการแยกไปทำการรักษาที่ห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อที่ห้องฉุกเฉิน ซึ่งแต่เดิม รพ มหาราชนครเชียงใหม่มีห้องลักษณะนี้เพียง 1 ห้อง เมื่อการระบาดขยายวงกว้าง ดังที่เราเห็นในต่างประเทศ จะมีความเสี่ยงมากขึ้นมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ติดเชื้อเข้ามาปะปนกับผู้ป่วยฉุกเฉินรายอื่น ๆ เพื่อให้การจัดการพื้นที่ขณะที่มีการระบาดมีความชัดเจนและปลอดภัย จึงเป็นที่มาของโครงการร่วมกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสมาคมศิษย์เก่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ที่ได้นำองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ได้มาตรฐาน ประสบการณ์จากการทำงาน มาเป็นองค์ประกอบของการสร้างห้องฉุกเฉินความดันลบ โดยการบูรณาการร่วมกันของ 2 คณะ และ 1 สมาคม ทำให้เกิดห้องดังกล่าวขึ้น การก่อสร้างครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 21 วัน ซึ่งนับได้ว่ารวดเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยปกติการสร้างห้องความดันลบส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนเป็นอย่างน้อย แต่ครั้งนี้เราได้กำหนดให้ระยะเวลาสั้นที่สุดเพื่อให้ทันต่อการระบาด


ห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ (Negative Pressure Room for Emergency Department) เป็นห้องกักกันเชื้อที่มีระบบระบายอากาศแยกจากส่วนอื่นๆ สามารถบำบัดอากาศและฆ่าเชื้อโรคด้วย HEPA Filter + UVC และ Ozone ก่อนปล่อยออกสู่สาธารณะ โดยภายในประกอบไปด้วย ห้องรักษาจำนวน 4 ห้อง และแต่ละห้องจะมีความดันเป็นลบ ทำให้อากาศจากภายในห้องไม่ไหลย้อนออกมาสู่ภายนอก เพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคลาการทางการแพทย์และผู้ที่มาใช้บริการ


ห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบไม่ได้มีไว้แค่ป้องกันการแพร่กระจายของ COVID-19 แต่สามารถป้องกันโรคทางเดินหายใจอื่นๆอีกด้วย เช่น โรควัณโรค โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งโรคเหล่านี้ยังมีการติดต่ออยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบแห่งนี้ ภายหลังการระบาดสิ้นสุด น่าจะเป็น new normal ของห้องฉุกเฉินในอนาคต เพราะยังคงมีโรคที่อาจจะอุบัติใหม่ โรคติดต่อทางเดินหายใจเดิมที่ยังคงรบกวนสุขภาพของประชาชนทั่วไป ทำให้เราต้องมีสิ่งใหม่ๆเพื่อป้องกันการระบาดเกิดขึ้นในห้องฉุกเฉิน บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยและญาติก็มีความปลอดภัยอีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เข้ามาแบบฉุกเฉิน อาการรุนแรง และไม่สามารถให้ประวัติที่ชัดเจนได้ ทางผู้ที่ให้การักษาจำเป็นจะต้องตระหนักว่า ผู้ป่วยเหล่านี้อาจจะมีเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยที่เจ็บป่วยรุนแรง ไม่ทราบประวัติลักษณะนี้ อาจมีจำนวน 5-10 รายต่อวัน นับเป็นจำนวนที่ไม่น้อย เมื่อเข้ามาถึงพยาบาลจะได้ทำการคัดกรอง รักษาเบื้องต้น ช่วยเหลือชีวิตให้อาการคงที่ แล้วส่งต่อไปยังหอผู้ป่วยที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งจะมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลต่อ ดังนั้นห้องฉุกเฉินความดันลบนี้ จะเป็นจุดบริการที่ผู้ป่วยใช้บริการไม่นาน ส่วนใหญ่ระยะเวลาเฉลี่ยผู้ป่วยหนักที่ใช้เวลาที่นี่น่าจะประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพื่อทำการช่วยชีวิต หากไม่มีห้องลักษณะนี้ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลปะปนกับผู้ป่วยอื่น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการกระจายโรค แพทย์ที่ทำงานในจุดนี้ จะมีตั้งแต่แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน และแพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆ เช่น แพทย์โรคหัวใจ ปอด ICU แม้กระทั่งแพทย์อุบัติเหตุก็จำเป็นต้องใช้ห้องนี้เช่นกัน เนื่องจากในอนาคตหากการแพร่ระบาดเกิดขึ้นเป็นวงกว้างอีกครั้ง ผู้รักษาจะไม่ทราบได้ว่า อาจจะมีผู้ป่วย Covid-19 เกิดอุบัติเหตุแล้วมาห้องฉุกเฉินก็เป็นได้ ดังนั้นการใช้ห้องนี้ จึงมีประโยชน์ต่อแพทย์หลากหลายสาขาอย่างมาก


การสร้างห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ครั้งนี้ ใช้งบประมาณ กว่า5.5 ล้านบาท ซึ่งใช้เงินจากการบริจาคจากผู้มีจิตอันเป็นกุศล ผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก และยังมีการบริจาคเพิ่มเติมจากสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ด้วย การระดมทุนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง"


ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคเงินสมทบทุนผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอกในโครงการ “เพื่อผู้ป่วยไวรัสโควิด-19” โดยท่านสามารถร่วมบริจาคได้ที่ มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 053 – 938400 หรือสแกน คิวอาร์โคท บริจาคผ่าน mobile Application หรือ บริจาคผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ( มหาชน ) บัญชีกระแสรายวัน เลขที่บัญชี 468-069896-8 / หรือบัญชี ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 968-002053-5 ชื่อบัญชี ” มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(ใบเสร็จรับเงินสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้) โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มช. ขอขอบคุณทุกกำลังใจที่มอบให้กับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกท่านด้วยดีตลอดมา

แกลลอรี่