มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ Digital Transformation

30 กรกฎาคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล มหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลทางการศึกษาเพื่อรองรับการเรียนการสอน การวิจัย การบริหารจัดการ และรวมถึงการบริการวิชาการเพื่อรับใช้สังคมและชุมชน โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็ว อำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้ไอทีของมหาวิทยาลัย โดยมีหน่วยงานสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ ITSC เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนหลัก


ภายใต้การดำเนินงานด้าน Digital Transformation มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเน็ตเวิร์ก มากกว่า 100 ล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงข่ายความเร็วสูงกว่า 100 Gbps เชื่อมต่อผ่าน 5 โหนดหลัก โครงข่ายที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งพัฒนาโครงข่ายแบบไร้สาย Wifi JumboPlus กว่า 7000 จุด มีการออกแบบศูนย์ข้อมูลกลาง (Data Center) ที่เป็นศูนย์รวมการเชื่อมต่อเครือข่ายของมหาวิทยาลัย อีกทั้งมีการจัดเก็บข้อมูลบนระบบ Private Cloud และ Co-location สำหรับเครื่องแม่ข่ายคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นระบบการรักษาความปลอดภัยสูง การป้องกันถูกโจมตีในโลกไซเบอร์ (Cyber Security) ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล (ISO 27001)


ด้านการสนับสนุนการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของ Digital Learning และ Online Learning เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านระบบ KC-Moodle การส่งเสริมการทำงานร่วมกันออนไลน์ ด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ ซอฟต์แวร์ Zoom และ Office 365 อีกทั้งการสร้างห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) ให้กับนักศึกษาและคณาจารย์ได้มาพบกัน ตลอดจนให้ความสำคัญกับอาจารย์ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการสอน โดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ (Outcome-Based Learning) โดยมีศูนย์นวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้ (TLIC) เป็นหน่วยงานดูแลหลัก อีกทั้งการจัดตั้งวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Life-long Education) เพื่อเพิ่มโอกาสในการศึกษาให้แก่ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้พัฒนาทักษะและความรู้ ตอบสนองการเรียนรู้ออนไลน์อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นด้านการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skills) ให้กับบุคลากรและนักศึกษา เพื่อให้สามารถนำเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งด้านการเตรียมความพร้อมของศูนย์ให้บริการสารสนเทศและแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษา โดยมีศูนย์ ITSC Corner กว่า 47 ศูนย์ที่ให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์ PC กว่า 1,000 เครื่อง และ พื้นที่ทำงาน Co-Working Space ที่กระจายอยู่ตามคณะ/ส่วนงาน และพื้นที่ส่วนกลางอาทิ สำนักหอสมุด และหอพักนักศึกษาอีกด้วย


ด้านการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีการปรับปรุงระบบบริหารจัดการด้วยการนำเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดเข้ามาใช้อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย (ERP for Higher Education) ที่เชื่อมโยงระบบการบริหารจัดการทั้งระบบบุคลากร ทะเบียนนักศึกษา กิจการนักศึกษา แผนงาน งบประมาณ การเงินบัญชี (ด้วยระบบบัญชี 3 มิติ) การคลังและพัสดุ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้ง การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการขับเคลื่อนองค์กร เช่น การบูรณาการข้อมูลสำหรับจัดทำเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ใหญ่ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญของมหาวิทยาลัย (University Data Analytic) และข้อมูลพฤติกรรมการใช้ชีวิตของนักศึกษา (Learner Analytic) เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัย (Decision Support System) เพื่อการวางแผนในอนาคตของมหาวิทยาลัย และเพื่อสร้างแผนที่ชีวิตนักศึกษา (Student Life Journey) โดยอาศัยเครื่องมือความฉลาดทางธุรกิจ (Business Intelligence -BI) และ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI)


นับเป็นอีกก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการดำเนินงานด้าน Digital Transformation โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนามหาวิทยาลัย ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานของบุคลากร และการเรียนรู้ของนักศึกษาแล้ว ยังรวมถึง การเพิ่มคุณค่า (Value) ของการดำเนินชีวิตของนักศึกษาและชุมชนชาว มช. ต่อไป

แกลลอรี่