STeP ต่อยอดเทคโนโลยี 3D Printing ผลิตหน้ากาก Face Shield ส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์สู้ภัยโควิด - 19

9 เมษายน 2563

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

       อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) นำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) จากเครื่อง 3D Printer สร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลมาประยุกต์ผลิตหน้ากากชนิดปกป้องทั้งใบหน้า (Face Shield) สำหรับป้องกันละอองฝอยและสารคัดหลั่ง เพื่อมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด - 19 ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

       วันที่ 9 เมษายน 2563 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานฯ นำคณะผู้บริหารและบุคลากร มอบหน้ากากชนิดปกป้องทั้งใบหน้า (Face Shield) ซึ่งเป็นผลผลิตจากเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) ให้แก่ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชัยวัฒน์ บำรุงกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพื่อส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในการป้องกันละอองฝอยและสาร คัดหลั่งจากการรักษาผู้ป่วย ณ อาคารบุญสม มาร์ติน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 
       ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ กล่าวว่า ในสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบให้แพทย์ พยาบาล และผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ ต้องเผชิญการทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง อุทยานฯ ได้เล็งเห็นประโยชน์จากเทคโนโลยีและเครื่องมือจากห้องปฏิบัติการ The Brick FABLAB ซึ่งตั้งอยู่ ณ ชั้น 1 อาคาร C อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) จึงดำเนินการผลิตหน้ากาก Face Shield เป็นการเร่งด่วนโดยใช้เครื่อง Prusa i3 MK3 และ Flashforge Creator Pro ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์ประเภทระบบฉีดเส้นพลาสติกผ่านหัวฉีดที่มีความร้อนสูงในการสร้างงานแต่ละชั้น (Fused Deposition Modeling: FDM) และเมื่อใช้ควบคู่กับหน้ากากอนามัย สามารถใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันละอองฝอยและสารคัดหลั่ง อาทิ น้ำลาย เสมหะ เลือด และน้ำตา ฯลฯ จากผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงได้เป็นอย่างดี โดยตั้งเป้าหมายจะสามารถส่งมอบหน้ากาก Face Shield ให้กับบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากถึง 500 ชิ้น ภายในระยะเวลา 2 เดือน
       ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ กล่าวเสริมอีกว่า หน้ากาก Face Shield ที่ได้ผลิตขึ้นสามารถนำกลับมาใช้ได้หลายครั้ง โดยการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคด้วยวิธีการอบก๊าซ ใช้น้ำยาทำลายเชื้อระดับสูง หรือการพาสเจอร์ไรซ์ (Pasteurization) ก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้สายรัดศีรษะยังออกแบบมาเพื่อให้สามารถปรับได้พอดีหลายระดับ โดยวัสดุมีความแน่นหนา และคงทน รวมทั้งแผ่นพลาสติกใสที่นำมาใช้ปกคลุมใบหน้านั้นได้ผ่านกระบวนการตัดจากเครื่องตัดเลเซอร์ MC70 ซึ่งสามารถตัดวัสดุได้ทั้งที่เป็นไม้ ยาง ผ้า และอะคลิริค
       สำหรับห้องปฏิบัติการ The Brick FABLAB อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ในการสนับสนุนจัดซื้อเครื่องพิมพ์ 3D Printer และจัดตั้งโครงการวิจัยร่วม เพื่อให้บริการขึ้นรูปชิ้นงานด้วยรูปแบบ 3 มิติ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ นักศึกษา และผู้สนใจที่ต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือผลงานต้นแบบ โดยการผลิตหน้ากาก Face Shield ด้วยเทคโนโลยี 3D Printing ดังกล่าว นับเป็นตัวอย่างของการสร้างผลงานต้นแบบจากเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของอุทยานฯ เชิงประจักษ์สู่การช่วยเหลือและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้อย่างแท้จริง

แกลลอรี่