ระยะเวลากว่า 700 ปีที่ผ่านมากับการก่อตั้งเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ หล่อหลอมความสัมพันธ์ที่แน่นหนาระหว่างชาวเชียงใหม่กับ “ดอยสุเทพ” ด้วยความสำคัญทางจิตวิญญาณ วัฒนธรรม และศาสนา จากคนพื้นถิ่นในยุคแรกต้องพึ่งพาน้ำ เนื้อไม้ และผลิตภัณฑ์จากป่า เมื่อกาลเวลาผ่านไปกลับแปรเปลี่ยนเป็นการเข้ามาของ “เมือง” ดอยสุเทพยังคงมีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจของเชียงใหม่อยู่ ไม่ได้เป็นแค่แหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่ดึงดูดด้านการท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของประเทศอีกด้วย ป่าไม้และสัตว์ป่าบนภูเขากำลังถูกรุกล้ำ และถูกทำลายไปเรื่อย ๆ การพิทักษ์ให้ทรัพยากรอันเป็นหัวใจสำคัญของชาวเชียงใหม่จึงเป็นอีกหน้าที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทีมนักวิจัยได้นำวิทยาการที่ได้จากพัฒนามาเป็นรากฐานความรู้ เพื่อนำไปสู่การปกป้องให้ธรรมชาติอยู่อย่างยั่งยืนมากที่สุด
เมื่อย้อนกลับไป 50 กว่าปีที่แล้ว อัตราการทำลายพื้นที่ธรรมชาติในประเทศไทยสูงขึ้นถึงร้อยละ 6 ต่อปี การพังทลายของดิน การสูญเสียทั้งพืชและสัตว์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลจากปัญหา “ไฟป่า” ที่คืบคลานเข้ามาทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด “หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ The Forest Restoration Research Unit (FORRU-CMU)” กลุ่มนักนิเวศวิทยาและนักศึกษาของภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ โดยมีพันธกิจในการศึกษาวิจัยเทคนิค วิธีการในการฟื้นฟูป่า และระบบนิเวศ เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการศึกษาความสามารถในการเก็บกักคาร์บอนของป่าฟื้นฟู หน่วยวิจัยฯ มีการเผยแพร่การศึกษา เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยมีพื้นฐานข้อมูลความรู้จากงานวิจัยของหน่วยวิจัยฯ ให้กับผู้สนใจและองค์กรต่าง ๆ ที่สนใจงานด้านการฟื้นฟูป่า
ดร. สตีเฟ่น เอลเลียต ผู้ร่วมก่อตั้งหน่วยวิจัยฯ ได้กล่าวถึงการฟื้นฟูป่าว่าเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานและซับซ้อน จำเป็นจะต้องดำเนินไปอย่างมีระเบียบแบบแผนที่เข้มแข็ง เพื่อรักษาระบบนิเวศและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ในภูมิประเทศที่ถูกทำลายหรือเสื่อมโทรมได้อย่างสมบูรณ์ หนึ่งในวิธีสำคัญที่ FORRU ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ ไม่เพียงแต่การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไม้สำหรับปลูกป่าโดยการหยอดเมล็ด และเพาะในโรงเพาะชำเพื่ออนุบาลกล้าพันธุ์ก่อนนำไปปลูกในพื้นที่ฟื้นฟูป่า แต่ยังศึกษาเชิงลึกถึงการสำรวจตัวอย่างของระบบนิเวศป่าไม้ เพื่อช่วยฟื้นความหลากหลายทางชีวภาพและช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้ โดยนำเทคโนโลยี “โดรน” เข้ามาช่วยในการเก็บภาพจากมุมสูง เพื่อเปรียบเทียบการฟื้นตัวทางโครงสร้างและความหลายทางชีวภาพของแปลงฟื้นฟูและแปลงป่าที่ฟื้นตัวตามธรรมชาติ รวมไปถึงการศึกษาต่อยอดไปสู่การใช้โดรนในการหยอดเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ฟื้นฟูได้ในอนาคต
นอกจากการศึกษาแหล่งธรรมชาติเพื่อการฟื้นฟูแล้ว การศึกษาองค์ความรู้ที่อยู่เบื้องหลังประเพณี วัฒนธรรม ผ่านแหล่งโบราณสถาน ด้วยเทคนิคทางดาราศาสตร์จะเป็นข้อมูลที่สนับสนุนการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยเชื่อมโยง และกระตุ้นให้เกิดความหวงแหน เพื่อรักษาประเพณีอันดีงาม มีความภาคภูมิใจในองค์ความรู้ของท้องถิ่น การพัฒนางานวิจัยแบบบูรณาการเกี่ยวกับ “ทิศทางการเรียงตัวของอุโบสถวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร” พบว่า แนวแกนนี้เอียงไปจากทิศเหนือ 59.74 องศา (หน้าอุโบสถเอียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 30.26 องศา) มุมเอียงนี้ไม่สอดคล้องกับตำแหน่งดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์เลย จากการสร้างแบบจำลองและการคำนวนย้อนกลับไปตามประวัติศาสตร์ของวัดพระธาตุดอยสุเทพ พบว่า ในช่วงปี พ.ศ.2080 แต่เป็นไปตามแกนเอียงตำแหน่งขึ้นของกลุ่มดาวมงกุฏเหนือ (Corona Borealis) หรือในทางล้านนาเรียกว่า ดาวขอบด้ง หรือกลุ่มดาววิสาขะ เป็นกลุ่มดาวที่ใช้ในการกำหนดเดือนวิสาขะ ผศ.ดร.ศิรามาศ โกมลจินดา ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในทีมนักวิจัยได้กล่าวถึงความสอดคล้องที่เกี่ยวเนื่องกับการกำหนดปฏิทินของชาวล้านนา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ชาวเชียงใหม่จะพร้อมใจกันเดินขึ้นไปสักการะวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ สะท้อนให้เห็นถึงหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันของผู้คน ธรรมชาติ และวัฒนธรรม ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน วิทยาศาสตร์จึงช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ทางสามารถสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และต่อยอดภูมิปัญญาของชาติให้คงอยู่ต่อไป
เมื่อองค์ความรู้ที่พัฒนาประกอบเข้ากับความหวงแหนในคุณค่าของ “ดอยสุเทพ” นำไปสู่ “การปลูกฝัง” ความรู้และความรักษ์ไปพร้อมกับคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นมาสืบต่อความงดงามทางธรรมชาติให้คงอยู่ “ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ส่งต่อองค์ความรู้ที่เหล่า อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ ได้สั่งสม และค้นคว้ามาอย่างยาวนาน เพื่อใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับดอยสุเทพ ทั้งด้านนิเวศวิทยา ปักษีวิทยา หรือนิเวศวิทยาประชากร โดยใช้สื่อกลางอย่างการจัดกิจกรรมให้กับเยาวชนในรูปแบบค่ายอนุรักษ์ สำหรับเยาวชน หรือบุคคลทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้ และเข้าใจ รศ.ดร. ประสิทธิ์ วังภคพัฒนวงศ์ หัวหน้าศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวว่า ภายในศูนย์ฯ ครอบคลุมงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย มุ่งเน้นงานบริการวิชาการ เพื่อถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจตลอดจนสร้างความตระหนักแก่ชุมชนให้เห็นความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ดอยสุเทพ
ในส่วนสถานที่ประกอบด้วยนิทรรศการถาวร นิทรรศการชั่วคราว ธนาคารเมล็ด และส่วนบริการกับการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน พร้อมกับการเป็นศูนย์บริการการท่องเที่ยวโดยมีนักสื่อความหมายธรรมชาติเป็นผู้นำเส้นทางศึกษา ก่อให้เกิดการสร้างเครือข่าย และพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมชุมชนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเฉกเช่นการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรักษ์ในธรรมชาติ ที่จะหยั่งรากเติบโตขึ้นในสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต