มช. ร่วมมือ ญี่ปุ่น พัฒนา “ระบบแจ้งเตือนไฟป่าผ่านดาวเทียม” ลดเสี่ยง จนท. ช่วยดับไฟในป่าลึก ที่ไม่มีสัญญาณ ตรงจุด ทันท่วงที

26 มีนาคม 2567

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

           มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัว “ระบบแจ้งเตือนไฟป่าผ่านดาวเทียมและโครงข่ายสื่อสารระยะไกล” ใช้แก้ไขปัญหาหมอกควันไฟในพื้นที่ป่าลึกไม่มีสัญญาณ สามารถรับข้อมูลจุดความร้อนอย่างแม่นยำ ส่งผลให้เข้าควบคุมไฟป่าได้ทันท่วงที ลดความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ของหน้าที่ ระบบนี้พัฒนาจากความร่วมมือที่เข้มแข็งที่ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูดินันท์ สิงห์คำฟู อาจารย์ประจำสาขาวิศกรรมซอฟต์แวร์ (นานาชาติ) ร่วมมือกับ สำนักงานคณะรัฐมนตรี ประเทศญี่ปุ่น และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ GISTDA เริ่มนำร่องที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นที่แรกในประเทศไทย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนาครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว และอำเภอพร้าว เริ่มติดตั้งระบบ Sensor ไปแล้วมากกว่า 10 จุด

           การทำงานของระบบแจ้งเตือนไฟป่าผ่านดาวเทียมแสดงให้เห็นถึงความรวดเร็วของการสื่อสาร โดยโครงการฯ ได้ดำเนินการภายใต้หน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ (3E) สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับความร่วมมือจากทีมวิศวกร Sony ซึ่งใช้ระบบสังเกตการณ์ ไร้สายระยะไกล ELTRST ที่มีความเสถียรและแม่นยำสูง และ NTT Data ประเทศญี่ปุ่นออกแบบทางด้านการส่งข้อมูลผ่านดาวเทียม ร่วมกับ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์จากโครงการ Dust Boy จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล และทีมงาน เพื่อทดสอบการตรวจจับ การส่งสัญญาณระยะไกล ส่งคำเตือนผ่านระบบดาวเทียมมิซิบิกิ (Michibiki) หรือดาวเทียม QZSS สถานีรับดาวเทียมภาคพื้นดินประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นระบบบอกพิกัดของประเทศญี่ปุ่น สามารถส่งสัญญาณไปยังบริเวณนอกเมือง และบริเวณที่ปกคลุมไปด้วยภูเขา มีความแม่นยำสูง โดยการแจ้งเตือนจะปรากฎเป็นข้อความแบบสั้นบนสมาร์ทวอชและสมาร์ทโฟน ส่งตรงถึงเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเพื่อค้นหาจุดต้นตอของไฟโดยระบบ GPS นำทาง ซึ่งเทคโนโลยีระบบแจ้งเตือนผ่านดาวเทียมเพื่อจัดการไฟป่านี้ ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถรับข้อมูลจุดความร้อนและประเมินสถานการณ์ได้รวดเร็วในพื้นที่ป่าลึกไม่มีสัญญาณติดต่อสื่อสารชนิดอื่น ส่งผลต่อการควบคุมไฟป่าได้ทันท่วงที ช่วยลดปัญหาการเกิดไฟป่า อันก่อให้เกิดหมอกควันและฝุ่น PM2.5 รวมไปถึงช่วยลดความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ของหน้าที่ดับเพลิง โดยได้ติดตั้งระบบ Sensor ไปแล้วกว่า 10 จุด และเพื่อความต่อเนื่อง ทีมผู้พัฒนามีแผนในการเพิ่มจำนวน Sensor มาติดตั้งเพิ่มเติมในพื้นที่นำร่อง อุทยานแห่งชาติศรีลานนาอีกราว 50 จุดในปี 2567-2568 และจะได้มีการขยายโครงการอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้กรอบการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด กับสำนักงานคณะรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น และ GISTDA ต่อไปในอนาคต

          ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาและเรียนรู้ระบบแจ้งเตือนไฟป่าผ่านดาวเทียมให้ดียิ่งขึ้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูดินันท์ สิงห์คำฟู ได้ส่งนักศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตร Data science ซึ่งเป็นหลักสูตรร่วมระหว่างวิทยาลัยฯ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปฝึกงานทางด้าน Edge AI และ IoT ที่ SONY Semiconductor Tokyo ในประเทศญี่ปุ่น เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน 2567 โดยโดยบริษัทเป็นผู้สนับสนุนทุนดังกล่าว

          ภายในงานเปิดตัวเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูดินันท์ สิงห์คำฟู อาจารย์ประจำสาขาวิศกรรมซอฟต์แวร์ (นานาชาติ) ร่วมมือกับ สำนักงานคณะรัฐมนตรี ประเทศญี่ปุ่น สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ. ,GISTDA) NTT DATA Japan Corporation Sony Group Corporation บริษัทพาสโคประเทศไทย (PASCO Thailand) ) นักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ทีม TAF) และอุทยานแห่งชาติศรีลานนา โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด รองผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ. ,GISTDA). กล่าวเปิดงานในครั้งนี้ โดยมีนาย เคนทาโร นากาอิ เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูต ญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ น่วมนา ผู้ช่วยคณบดี วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี เข้าร่วมสังเกตการณ์

แกลลอรี่