คณะศึกษาศาสตร์

Faculty of Education

สถาบันชั้นนำในการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้จัดการศึกษาเพื่อความยั่งยืน

เข้าสู่เว็บไซต์

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เริ่มเปิดดำเนินการสอนในระดับปริญญาตรี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2511 โดยมีสาขาวิชาที่เปิดสอน 7 สาขาวิชา ได้แก่ การสอนภาษาไทย การสอนภาษาต่างประเทศ การสอนสังคมศึกษา การสอนธุรกิจศิลป์ การสอนวิทยาศาสตร์ การสอนคณิตศาสตร์ และการสอนเกษตรศาสตร์ ทั้งนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศการจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2511 ดำเนินการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน คณะศึกษาศาสตร์ก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 ภายใต้การนำของ รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ โดยมีโครงสร้างและการกำกับดูแลองค์การด้วยระบบธรรมาภิบาล และความสัมพันธ์เชิงการรายงานระหว่างสภามหาวิทยาลัย คณะกรรมการอำนวยการประจำคณะ คณะกรรมการที่กำกับ ดูแลเชิงจริยธรรมและผู้นำระดับสูงของคณะ 

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีโครงสร้างการบริหารงาน ในรูปแบบผังสายบังคับบัญชาตามลำดับ ดำเนินการโดยคณะกรรมการบริหารประจำคณะฯ นำโดยคณบดีที่ได้รับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะและกำกับดูแลโดยคณะกรรมการอำนวยการประจำคณะ สำหรับการดำเนินงานมุ้งเน้นการบริหารตามแนวราบ ในรูปแบบคณะกรรมการชุดต่าง ๆ โดยมี หัวหน้าภาควิชา รองคณบดี ผู้ช่วยคณบดีและผู้ปฏิบัติการแทนคณบดี กำกับดูแลตามพันธกิจ ดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดำเนินการบริหารจัดการตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ และ คุรุสภา ภายใต้วิสัยทัศน์ “สถาบันชั้นนำในการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้จัดการศึกษาเพื่อความยั่งยืน” โดยมี พันธกิจ ประกอบด้วย

พันธกิจหลัก คือ
  • 1. จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาสาขาศึกษาศาสตร์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน
  • 2. ผลิตและถ่ายทอดงานวิจัยด้านนวัตกรรมการสอนและองค์ความรู้ในศาสตร์ทางการศึกษาเพื่อช่วยแก้ปัญหาการศึกษาของท้องถิ่นและประเทศ
  • 3. ให้บริการวิชาการแก่ชุมชนเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันการศึกษาระดับท้องถิ่นและประเทศ
  • 4. ดำเนินงานโรงเรียนสาธิตฯ ให้มีความเป็นเลิศเพื่อสนับสนุนพันธกิจของคณะ

พันธกิจรอง คือ
  • 5. ทำนุบำรุง ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นล้านนา
     

    ค่านิยม : WE CAN 

    “WE CAN” ประกอบด้วย
    • W – Willingness: การทำงานด้วยความเต็มใจ
    • E – Extraordinary: การยกระดับการปฏิบัติงานสู่คุณภาพชั้นเลิศ
    • C – Collaboration: การรวมพลังร่วมมือกัน
    • A – Advanced Pedagogy: การบูรณาการศาสตร์การสอนแนวใหม่
    • N – Network Organization: การสร้างองค์กรที่มีเครือข่ายความร่วมมือเข้มแข็ง

    สมรรถนะหลักของคณะ

    • CC1: ความเชี่ยวชาญด้านศาสตร์การสอนสมัยใหม่
    • CC2: ความเชี่ยวชาญในการทำวิจัยด้านการศึกษาเชิงพื้นที่
    • CC3: การให้บริการวิชาการครอบคลุมทุกช่วงวัยและทุกระดับการศึกษา
    • CC4: การสร้างเครือข่ายและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกและภาคีเครือข่าย
     

    ปัจจุบัน คณะฯ มีบุคลากร จำนวน 147 คน ประกอบด้วย สายวิชาการ จำนวน 73 คน และ สายปฏิบัติการจำนวน 74 คน สำหรับโรงเรียนสาธิตฯ มีบุคลากร จำนวน 88 คน ประกอบด้วย สายวิชาการ จำนวน 60 คน และ สายปฏิบัติการ จำนวน 28 คน ซึ่งบุคลากรของคณะฯ ส่วนใหญ่ มีคุณวุฒิและคุณสมบัติที่ตรง/สอดคล้องกับสายงาน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนในคณะฯ ผูกพันและอยากร่วมกันผลักดันให้บรรลุวิสัยทัศน์และพันธกิจ ได้แก่ ความรู้สึกเป็นเจ้าของคณะร่วมกันความมั่นคงและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน บุคลากรสายวิชาการมีความเชี่ยวชาญทางการสอนและการวิจัยในศาสตร์สาขาวิชาของตนเอง บุคลากรสายปฏิบัติการมีความรู้และทักษะการทำงานในส่วนที่รับผิดชอบโดยทุกคนจะได้รับการส่งเสริมให้มีการพัฒนาตนเองในงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

    การจัดการศึกษา
    คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2560 จำนวน 19 หลักสูตร ผ่านการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ คุรุสภาเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และ วิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ประกอบด้วย...

    ระดับปริญญาตรี หลักสูตร 5 ปี ภาคปกติ จำนวน 12 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาประถมศึกษา สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาพิเศษ สาขาวิชาภาษาไทย สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สาขาวิชาสังคมศึกษา สาขาวิชาชีววิทยา สาขาวิชาฟิสิกส์ สาขาวิชาเคมี สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาธุรกิจศึกษา สาขาวิชาศิลปศึกษา และ สาขาวิชาพลศึกษา โดยมุ่งเน้น จัดการเรียนการสอนด้วยศาสตร์การสอนแนวใหม่, การเรียนร่วมกับคณะอื่นในด้านเนื้อหาวิชาเอก, Micro Teaching, การพัฒนาคุณภาพนักศึกษาผ่านโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกวิชาชีพครู และการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพครู 1 ปีการศึกษา

    ระดับปริญญาโท หลักสูตร 2 ปี ภาคปกติและภาคพิเศษ จำนวน 5 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาการศึกษา ประกอบด้วย 5 วิชาเอก คือ วิชาเอกการบริหารการศึกษา วิชาเอกการศึกษาเพื่อการพัฒนา วิชาเอกการศึกษาปฐมวัย วิชาเอกวิทยาศาสตร์ศึกษา วิชาเอกสังคมศึกษา สาขาวิชาประเมินผลและวิจัยการศึกษา ประกอบด้วย 2 แขนงวิชา คือ แขนงวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษา และ แขนงวิชาวิจัยและสถิติการศึกษา สาขาวิชาหลักสูตร การสอน และเทคโนโลยีการเรียนรู้ ประกอบด้วย 4 แขนงวิชา คือ แขนงวิชาประถมศึกษา แขนงวิชาหลักสูตรและการสอน แขนงวิชาการสอนภาษาอังกฤษ และ แขนงวิชาเทคโนโลยีทางการศึกษา สาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา และ สาขาวิชาการศึกษาพิเศษ

    ระดับปริญญาเอก หลักสูตร 3 ปี ภาคปกติและภาคพิเศษ จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาการศึกษา ประกอบด้วย 5 วิชาเอก คือ วิชาเอกการบริหารการศึกษา วิชาเอกการศึกษาเพื่อการพัฒนา วิชาเอกพหุวัฒนธรรมศึกษา วิชาเอกวิทยาศาสตร์ศึกษาและ วิชาเอกสังคมศึกษา และ สาขาวิชาหลักสูตร การสอน และเทคโนโลยีการเรียนรู้ ประกอบด้วย 2 แขนงวิชา คือ แขนงวิชาหลักสูตรและการสอน และ แขนงวิชาเทคโนโลยีการศึกษา
    โดยจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรระดับปริญญาโทและเอก มุ่งเน้น การวิพากษ์ทฤษฎี แนวคิดปรัชญาการศึกษา เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่, การฝึกทักษะและการปฏิบัติการวิจัย, การศึกษาดูงานในประเทศ/ต่างประเทศ และ การตีพิมพ์/เผยแพร่ผลงานวิจัยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

    การวิจัย
    คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กำหนด ยุทธศาสตร์ผลิตงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ศาสตร์การสอนแนวใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ได้บริหารการจัดการวิจัย ใน 3 ลักษณะ ได้แก่

    1. งานวิจัยจากงบประมาณภายนอกเพื่อแก้ไขปัญหา/ยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ
    2. งานวิจัยที่คณะให้ทุนสนับสนุน การสอนในระดับอุดมศึกษาและโครงการวิจัยสถาบัน
    3. งานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมและศาสตร์การสอนแนวใหม่ที่มุ่งพัฒนานักศึกษาครู และครูประจำการ

    นอกจากนี้ ทางคณะยังได้บริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการในระดับชาติและนานาชาติ ของอาจารย์ พนักงานสายปฏิบัติการ นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งการสนับสนุนการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานทางวิชาการแบบปกติ และ การสนับสนุนการผลิตและตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานทางวิชาการในระดับนานาชาติแบบมุ่งเป้า (ฐานข้อมูล Scopus, Eric ฯลฯ) โดยมีการสร้างข้อตกลง (MOU) ระหว่างอาจารย์และคณะฯ ตั้งแต่เริ่มการผลิตจนถึงการตีพิมพ์เผยแพร่
    นอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2560 ได้พัฒนา วารสารศึกษาศาสตร์สาร ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อเป็นแหล่งตีพิมพ์เผยแพร่ โดยกำหนดในรูปแบบของวารสารอิเล็กทรอนิกส์และเป็นวารสารตีพิมพ์ ปีละ 3 และเตรียมความพร้อมในการนำวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูลดัชนีอ้างอิงวารสารไทย ต่อไป และในปี พ.ศ. 2561 คณะฯ ได้จัดการประชุมวิชาการศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 1ภายใต้ชื่องาน “50 ปี ศึกษาศาสตร์สู่ศาสตร์การสอนแนวใหม่” ในระหว่างวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2561 มีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 433 คน และมีผู้นำเสนอผลงานในรูปแบบโปสเตอร์ จำนวน 15 ผลงาน และนำเสนอแบบปากเปล่า จำนวน 49 ผลงาน โดยกำหนดเป้าหมายว่าจะมีการจัดการประชุมวิชาการในระดับชาติในทุกปี และพัฒนาเป็นการประชุมวิชาการในระดับชาตินานาชาติ ต่อไป

    การบริการวิชาการ
    คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กำหนดยุทธศาสตร์บริการวิชาการเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษา โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกระดับการศึกษา โดยคณะฯ ได้ออกแบบหลักสูตรเพื่อการบริการวิชาการด้วยนวัตกรรมการเรียนรู้และศาสตร์การสอนแนวใหม่ ประกอบด้วย...

    1. หลักสูตรตามโครงการเพื่อพัฒนาครูแบบครบวงจร (คูปองครู) มีหลักสูตรที่ผ่านการรับรองของสถาบันคุรุพัฒนา กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 7 หลักสูตร และจำนวนครูที่ได้รับการพัฒนา จำนวน 1,481 คน
    2. หลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ให้กับผู้บริหารสถานศึกษาและครู ในปีการศึกษา 2560
    3. หลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู 9 มาตรฐานของคุรุสภา เพื่อใช้ประกอบการขอมีใบอนุญาตประกอบวิช่ชีพครู

    นอกจากนั้น ยังมีการบริการวิชาการโดยการนำองค์ความรู้ด้านศาสตร์การสอนแนวใหม่ ไปใช้ในการแก้ไขปัญหา การยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อปรับวิธีการจัดการเรียนรู้ให้กับครู พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มีโครงการสำคัญ ได้แก่

    1. โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยแก่ผู้เรียนบนพื้นที่สูงอมก๋อยในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
    2. โครงการส่งเสริมศักยภาพด้านวิชาการ ด้านการอ่าน คิดวิเคราะห์ ทักษะชีวิต โดยใช้กระบวนการเรียนการสอนแบบ Active Learning ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง (U-School Mentoring) มีจำนวนโรงเรียนที่ร่วมโครงการ 20 โรงเรียน ครู 41 คนและนักเรียน 779 คน
    3. โครงการนวัตกรรมการเรียนรู้และศาสตร์การสอนแนวใหม่ จำนวน 13 กิจกรรม ครูที่ได้รับการพัฒนา 51 คน
    4. โครงการพัฒนาครูด้วยกิจกรรมสะเต็มเพื่อชีวิต เศรษฐกิจและสังคม มีโรงเรียนที่ร่วมโครงการ 2 โรงเรียน ครู จำนวน 114 คน
    5. โครงการศึกษาศาสตร์เสวนา : Show & Share 50 เรื่องราวดี ๆ ที่มอบให้ จำนวน 55 กิจกรรม
    6. โครงการดูแลสุขภาวะของผู้สูงอายุ ของภาควิชาอาชีวศึกษาและการส่งเสริมสุขภาพ

    นอกจากนี้ ในสาขาวิชาต่างๆ ยังมีโครงการในการนำนักศึกษาไปจัดกิจกรรมหรือค่ายอาสาตามสถานศึกษาหรือชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพของการเรียนรู้และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย

    การทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรม
    คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้นักศึกษา อาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุนมีส่วนร่วมกันในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความรู้สึกผูกพันต่อคณะฯ จิตสำนึกต่อหน้าที่ ความรับผิดชอบ อัตลักษณ์ความเป็นล้านนาและความเป็นคนไทย และได้รับความไว้วางใจจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เป็นตัวแทน ในการเข้าร่วมและจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

    ----------------

    คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนพื้นที่รวม 36,397.30 ตารางเมตร มีอาคารรวมทั้งสิ้น 16 อาคาร ประกอบด้วย อาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ อาคารชั่วคราว อาคารศูนย์เด็กเล็ก อาคารกิจกรรม โรงอาหาร ลานกิจกรรม สนามกีฬา โดยมีห้องเรียน ห้องสมุด ห้องประชุม ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยี ห้องปฏิบัติการสอนแบบจุลภาค (Microteaching) นอกจากนี้ คณะฯ ยังมีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์หลัก ระบบเครือข่ายไร้สายทั่วทั้งคณะ 85 จุด ระบบความปลอดภัยของข้อมูลและสารสนเทศ ได้แก่ เครื่องแม่ข่ายโฮสติ้ง อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยการจราจรทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จัดเครื่องคอมพิวเตอร์ให้บริการแก่นักศึกษา ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และ ITSC Corner ภายในคณะ มีระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการทุกพันธกิจของคณะ EDU-MIS ได้แก่ ระบบบริหารจัดการงานบุคคล ระบบบริหารจัดการงบประมาณ ระบบบริหารจัดการโครงการ/กิจกรรม ระบบติดตามงาน ระบบบริหารจัดการเว็บไซต์

    ข่าวและผลงานเด่น

    End of content