ในสถานการณ์โลกที่ผู้ป่วยโควิด -19 ยังคงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ผู้คนทั่วโลกล้วนฝากความหวังไว้กับวัคซีนในการเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งหลายประเทศกำลังทำการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงของการศึกษา วิจัย ทดลอง ทั้งในระยะศึกษาในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์ มากกว่า 100 ชนิด ซึ่งวัคซีนทุกตัวต้องผ่านการศึกษาวิจัย และการขออนุมัติการผลิต
จากข้อมูลปัจจุบัน ถึงวันที่ 15 มกราคม 2564 วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่อนุมัติให้ใช้เป็นการเร่งด่วน (อย่างน้อยใน 1 ประเทศขึ้นไป) มีทั้งหมด 8 ชนิด ส่วนวัคซีนตัวอื่นๆ ยังคงอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย ซึ่งต้องรออัปเดตข้อมูลต่อไป
โดยวัคซีนทั้งหมดที่อยู่ในการศึกษาและรวมถึงที่อนุมัติให้เริ่มใช้ได้แล้วในบางประเทศ แบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ชนิด
วัคซีนชนิดที่ 1 “mRNA vaccine” ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 หรือไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เมื่อฉีดวัคซีนเข้ามาในร่างกายมนุษย์ ตัวสารพันธุกรรมจะทำร่างกายมนุษย์สร้างโปรตีนที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา ซึ่งวัคซีนในกลุ่มนี้ที่มาแรงที่สุดตอนนี้ คือ วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค (Pfizer BioNTech) และของบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ประเทศสหรัฐอเมริกา ข้อดีของวัคซีนตัวนี้ คือ ผลิตง่าย รวดเร็ว ขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยาก และราคาไม่สูงมาก แต่มีข้อจำกัดคือ เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ที่เคยมีใช้ทั่วโลกก่อนหน้านี้ ยังไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ผลิตโดยเทคโนโลยีนี้ ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในระยะยาวและประสบการณ์การใช้อาจมีไม่มากนัก นอกจากนี้วัคซีนในกลุ่มนี้ยังจำเป็นต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมาก เช่น -70 หรือ -20 องศาเซลเซียส เพื่อให้คงประสิทธิภาพไว้ได้
วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค (Pfizer/BioNTech) ประสิทธิภาพของวัคซีน ตามที่ตีพิมพ์ออกมาล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 95% โดยให้วัคชีน 2 ครั้ง ห่างกัน 3 สัปดาห์ โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีนต้องเก็บที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ด้านผลข้างเคียงรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับการรับวัคซีน
วัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ประสิทธิภาพของวัคซีน ตามที่ตีพิมพ์ออกมาล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 94% โดยให้วัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีนต้องเก็บที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส (ได้นาน 6 เดือน) หรือเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส (ได้นาน 1 เดือน) ด้านผลข้างเคียงรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับการรับวัคซีนเช่นกัน
วัคซีนชนิดที่ 2 “viral vector vaccine” โดยใช้หลักการฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไปในไวรัสพาหะชนิดอื่นๆ เช่น adenovirus เพื่อพาเข้ามาในร่างกายมนุษย์ และทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมาได้ โดยวัคซีนในกลุ่มนี้ ตัวที่มาแรง ได้แก่ วัคซีนของบริษัท AstraZeneca ร่วมกับ University of Oxford ของประเทศอังกฤษ ข้อดีของวัคซีนในกลุ่มนี้ คือ เป็นวัคซีนที่เลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ ผลิตได้ง่าย เร็ว ราคาไม่สูง ข้อด้อยของวัคซีน คือ ยังไม่มีประสบการณ์ใช้ในวงกว้าง และในผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสที่ใช้เป็นพาหะมาก่อน วัคซีนอาจกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีมากนัก
ซึ่งวัคซีนตัวนี้เป็นตัวที่รัฐบาลไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากมหาวิทยาลัย Oxford และบริษัท AstraZeneca ซึ่งคาดว่าจะทยอยส่งมอบล็อตแรก จำนวน 26 ล้านโดส ในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ทั้งนี้วัคซีนของบริษัท AstraZeneca ใช้ไวรัส Adenovirus ของลิงชิมแปนซี เป็นไวรัสพาหะ และจากการศึกษาวิจัยพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพเฉลี่ยโดยรวม 70% (โดยกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนครึ่งโด๊ส ตามด้วย 1 โด๊ส ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 90% และอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 2 โด๊ส ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 62%) โดยให้วัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีนสามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศา (อย่างน้อย 6 เดือน) ด้านผลข้างเคียงพบว่าอาการที่รุนแรงที่เกิดขึ้นไม่พบว่าเกี่ยวข้องจากการรับวัคซีน
วัคซีนชนิดที่ 3 “วัคซีนแบบใช้โปรตีน (protein-based vaccine)” ซึ่งเป็นวัคซีนที่ประกอบด้วยโปรตีนของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) โดยอาจใช้เป็นชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัส เช่น โปรตีนส่วนหนาม (spike protein) เป็นต้น ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้ คือ ผลิตได้ง่าย รวดเร็ว ราคาไม่แพง และเคยมีประสบการณ์การใช้มาก่อน แต่อาจต้องใช้สารเสริมฤทธิ์ (adjuvant) เพื่อให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันดี วัคซีนในกลุ่มนี้ที่มาแรง ได้แก่ วัคซีน Novavax ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยในคน ระยะที่ 3
วัคซีนชนิดที่ 4 “วัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine)” ซึ่งผลิตโดยการใช้ไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้ว วัคซีนตัวที่มาแรงในกลุ่มนี้ ได้แก่ วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ซึ่งเป็นของบริษัทซิโนแวค (SinoVac) ประเทศจีน ข้อดีของวัคซีนในกลุ่มนี้ คือ ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีมานาน จึงมีประสบการณ์และความมั่นใจในการใช้เป็นอย่างดี แต่ข้อจำกัด คือ ราคาวัคซีนอาจจะค่อนข้างสูง เนื่องจากกรรมวิธีในการผลิตต้องดำเนินการในห้องปฏิบัติการที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับที่ 3 สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีน จากการศึกษาล่าสุดในประเทศบราซิลพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนเฉลี่ยอยู่ที่ >50.3% (รวมอาสาสมัครที่ติดเชื้อทั้งที่มีอาการรุนแรงและไม่รุนแรง) โดยให้วัคชีน 2 ครั้ง ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีนสามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส สำหรับผลข้างเคียงที่รุนแรงของวัคซีน ยังไม่มีรายงานจากการวิจัยทดลองระยะที่ 3
วัคซีนตัวนี้จะนำเข้าในประเทศไทยล็อตแรกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 2 แสนโด๊ส และเดือนมีนาคม 2564 อีก 8 แสนโด๊ส จากที่สั่งซื้อทั้งหมด 2 ล้านโดส (ข้อมูลตามที่รัฐบาลแถลง)
สำหรับกลุ่มประชาชนที่จะได้รับวัคซีน CoronaVac ล็อตแรก จำนวน 2 แสนโดส ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลได้จัดไว้ 4 กลุ่ม ได้แก่
1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
2. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค
3. ผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
4. ผู้ที่มีโรคประจำตัว
ในปัจจุบันการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (new normal) ถือเป็นวิธีการป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ การสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างทางสังคม ล้างมือบ่อยๆ โดยยังคงเป็นสิ่งที่เราต้องทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งการปฏิบัติตนเช่นนี้ ไม่เพียงช่วยป้องกันโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังสามารถป้องกันโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ได้อีกด้วย
ข้อมูลโดย รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ข้อมูลอัพเดต วันที่ 16 มกราคม 2564)