คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร คณะพยาบาลศาสตร์ มช. รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในการป้องกันโรค

24 พฤษภาคม 2564

คณะพยาบาลศาสตร์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี แก้วธรรมนุกูล คณบดี พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และ บุคลากร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในการป้องกันโรค ณ อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สามารถลดความรุนแรงของอาการป่วยและลดการเสียชีวิตได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นภาวะฉุกเฉินของโลก จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลกทะลุมากกว่าร้อยล้านคน มีผู้เสียชีวิตหลายล้านชีวิต โดยในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนรวมทั่วโลกแล้วกว่า 100 ล้านโดส

เป้าหมายของการให้วัคซีนคือ เพื่อลดการป่วยรุนแรง การเสียชีวิตจากโรคและการสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากร เนื่องจากปริมาณของวัคซีนมีจำกัด กลุ่มเป้าหมายในระยะแรก คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสโรคสูง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มเป้าหมายในระยะถัดไปเมื่อมีปริมาณวัคซีนมากขึ้น คือ ประชาชนทั่วไป

แม้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีระยะเวลาการศึกษาไม่นานและมีการผลิตใช้ในช่วงเวลาอันสั้น แต่วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่นำมาใช้ในประเทศไทย ผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แห่งประเทศไทยตามมาตรฐาน รวมถึงมีข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนจากการใช้ในหลากหลายประเทศ อีกทั้งมีการติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดและรายงานตามระบบที่กำหนดไว้ แม้จะมีรายงานผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และมีไข้ แต่สามารถหายได้เองหลังฉีดยาประมาณ 2 – 3 วัน ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงนั้นพบน้อยมาก เช่น การแพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis) เป็นต้น

ฉีดวัคซีนก่อนป้องกันก่อน!!

แกลลอรี่