Science & Safety : สารเคมีกับความปลอดภัยใกล้ตัว

5 กรกฎาคม 2564

คณะวิทยาศาสตร์

             สถานการณ์การระเบิดของโรงงานย่านกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ ในกลางดึกของวันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม 2564 [1] ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังอยู่จนถึงขณะนี้ (เวลา 17.00 น.) ทั้งนี้ การตอบโต้เหตุฉุกเฉินที่ควรปฏิบัติโดยเร็ว คือ การอพยพออกนอกพื้นที่ ล่าสุดนายอำเภอบางพลี (นายสมศักดิ์ แก้วเสนา) ออกคำสั่งเร่งด่วนให้ประชาชนทุกคนให้ออกห่างรัศมีโรงงานไฟไหม้ในรัศมี 5 กม. (ดูแผนที่ https://cmu.to/jCX0B) เนื่องจากแสงเพลิงเข้าประชิดถังบรรจุสารเคมีขนาดใหญ่กว่า 2 ตัน การระเบิดครั้งนี้นับว่าก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง

นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมและการปฏิวัติเกษตรกรรมในศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้มนุษย์พึ่งพาสารเคมีหลายชนิดในชีวิตประจำวัน ทั้งกิจกรรมภายในครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม หากแต่สารเคมีเหล่านั้นอาจมีทั้งคุณและโทษ การใช้และจัดการสารเคมีอย่างถูกต้องจะทำให้มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถลดโอกาสที่จะเกิดอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นจากสารเคมีได้อีกด้วย คณะวิทยาศาสตร์ เรามีบทบาทอย่างไรในการดูแลความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นจากสารเคมีในห้องปฏิบัติการได้บ้าง

ข้อมูลเกี่ยวกับสไตรีน และข้อมูลความปลอดภัย

จากข้อมูลของโรงงานพบว่า โรงงานดังกล่าวประกอบธุรกิจผลิตเม็ดโฟมและเม็ดพลาสติก ในกระบวนการผลิตเม็ดโฟมจะใช้สไตรีน (styrene) เป็นมอนอเมอร์ (monomer) เมื่อเกิดปฏิกิริยาพอลิเมอไรเซชันแบบแรดิคัล มอนอเมอร์จะต่อกันเป็นสายยาว เรียกว่า พอลิสไตรีน (polystyrene) เมื่อผ่านกระบวนการอัดรีด (extrusion) จะได้สไตโรโฟมและสามารถนำไปใช้งานทางด้านต่าง ๆ ได้

ข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี

ข้อมูลความปลอดภัยของสไตรีนมอนอเมอร์และ PAHs ตามระบบ Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals หรือ GHS แสดงดังตารางต่อไปนี้ ซึ่ง GHS เป็นระบบสากลที่จัดกลุ่มความเป็นอันตรายและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก [2] โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ตามเอกสารอ้างอิง [3] และ [4]

               ทั้งนี้ ผศ.ดร.ว่าน วิริยา สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสารประเภทพอลิไซคลิกแอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) เปิดเผยว่า สไตรีนมอนอเมอร์ที่เป็นสารตั้งต้นสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกประเภทพอลิสไตรีน ถ้าเกิดการเผาไหม้จะปลดปล่อยสารที่เป็นอันตรายหลายชนิด ขึ้นกับอุณหภูมิและสภาวะในการเผา จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า หากสารตั้งต้นและตัวเม็ดพลาสติกประเภทนี้ถูกเผาจะปล่อยสารก่อมะเร็งมากที่สุด ได้แก่ PAHs ตามมาตรฐานของ US-EPA มีสาร PAHs ทั้งหมด 16 ตัว ในงานวิจัยที่อ้างมานี้มีถึง 12 ชนิดที่นอกเหนือไปจากนี้ ยังอาจมีสารที่ถูกปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศอีกหลายชนิด อาทิ สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นต้น

สำหรับสารที่น่ากังวลอันดับต้นๆ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานานคงหนีไม่พ้น สาร PAHs ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ข้อมูลเกี่ยวกับความอันตราย [5, 6] ระบุว่า เมื่อถูกผิวหนัง-ตา หรือหายใจเข้าไป จะเกิดการระคายเคือง หายใจลำบาก เมื่อดูดซึมจนถึงระดับที่ก่อให้เกิดพิษทำให้ปวด/เวียนศีรษะ ง่วงซึม เมื่อกินเข้าไป ระคายเคืองทางเดินอาหาร ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาเจียน เซื่องซึม ถ้าได้รับสารปริมาณสูง จะชักและเสียชีวิตได้ ซึ่งจากข้อมูลทางด้านพิษวิทยา ระบุว่า การรับสารพิษจำพวก CO และ O3 เข้าไปในร่างกายในแม้ปริมาณน้อยก็สามารถทำให้เกิดอาการเฉียบพลัน และถ้าได้รับสารจำพวก PAHs และ VOCs เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดพิษเรื้อรัง คือ เกิดความผิดปกติของโครโมโซมในคน ก่อมะเร็งในคนและสัตว์ เพิ่มโอกาสแท้งในสตรีมีครรภ์ ทำให้ระบบฮอร์โมนผิดปกติ และมีผลต่อระบบประสาทอีกด้วย

เหตุการณ์ในอดีต สู่แนวทางเพื่อการป้องกัน

ในแต่ละปี มีรายงานอุบัติภัยที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีจำนวนมาก โดยเหตุการณ์ที่สำคัญและอาจเทียบเคียงกับเหตุการณ์นี้ คือ เหตุการณ์โพแทสเซียมคลอเรต (KClO3) ระเบิดที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2542 ซึ่งสารชนิดนี้ใช้เป็นส่วนประกอบของสารเร่งผลผลิตลำไยนอกฤดู [7] แม้สาเหตุของการระเบิดครั้งนั้นจะได้รับการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยละเอียดแล้ว อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักของเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้มักเกิดจากการจัดเก็บสารเคมีที่ยังไม่เป็นไปตามหลักการจัดการความปลอดภัย ทั้งสภาวะที่ใช้จัดเก็บและปริมาณ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ระเบิดของโกดังเก็บแอมโมเนียมไนเตรตครั้งรุนแรง ณ กรุงเบรุต ประเทศเลบานอนเมื่อกลางปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา [8] หรือเหตุการณ์ระเบิดที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่เมื่อไม่นานมานี้ [9]เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและชุมชนโดยรอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การจัดการสารเคมีตามหลักความปลอดภัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดเพื่อป้องกันเหตุอันตรายที่จะเกิดขึ้น

สำหรับการทดลองในระดับห้องปฏิบัติการตามสถานศึกษาและสถาบันวิจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการทางเคมี ปฏิบัติการชีวภาพ รวมถึงปฏิบัติการทางรังสี การให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก หากหน่วยงานต่าง ๆ มีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจน จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงในห้องปฏิบัติการได้

ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับคณะและส่วนงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักถึงความสำคัญนี้ จึงได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (Center for safety, occupational, health, and environment : CMU SH&E) ขึ้น [10] เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างระบบการบริหารจัดการ และขับเคลื่อนนโยบายมหาวิทยาลัยในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล เพื่อสุขภาวะที่ปลอดภัยสำหรับนักศึกษา ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย และผู้มารับบริการทุกคน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบ โดยมีการดำเนินการเชิงรุกในการสร้างระบบการจัดการห้องปฏิบัติการ สารเคมี ของเสีย จัดการอบรมให้ความรู้ รวมถึงบริหารการจัดการความเสี่ยงซึ่งถือเป็นหัวใจของการจัดการความปลอดภัย และเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า พอให้เราเห็นถึงความสำคัญของการใช้และการจัดเก็บสารเคมีอย่างถูกวิธี ไม่มองข้ามหลักความปลอดภัย สิ่งเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์รากฐาน เพื่อเข้าใจปรากฏการณ์ทางเคมี การเลือกใช้ประโยชน์และการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ไปพร้อม ๆ กัน รวมถึงการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและระงับเหตุได้อย่างได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ท่ามกลางวิกฤติในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการแก้ไขวิกฤตการณ์เฉพาะหน้าจากนี้ไป คือ การตรวจวัดคุณภาพอากาศเพื่อเตือนภัยประชาชน นอกจากการตรวจวัดละอองฝุ่น PM2.5 ที่เราคุ้นเคยแล้ว ยังมีควันไฟที่มีสารพิษต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว ด้วยตัวสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษเอง และหน่วยงานอื่น ๆ ก็อาจไม่ครอบคลุมสำหรับการเฝ้าระวังจากเหตุการณ์นี้ ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญในระบบติดตามเตือนภัย ก่อนที่จะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมา

เรียบเรียงโดย
คณะทำงานสื่อสารองค์กร
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก
ผศ. ดร.ว่าน วิริยา ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทั้งนี้ ผศ. ดร.ว่าน วิริยา ได้เผยแพร่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM10 - PM2.5 รวมถึงสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับมลพิษในอากาศ ดังเช่นงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Atmospheric Research

Wan Wiriya, Tippawan Prapamontol, Somporn Chantara, PM10-bound polycyclic aromatic hydrocarbons in Chiang Mai (Thailand): Seasonal variations, source identification, health risk assessment and their relationship to air-mass movement, Atmospheric Research, Volume 124,
2013, 109-122.



เอกสารอ้างอิง
[1] เสียงระเบิดดังสนั่น! โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ กลางดึก ยังคุมเพลิงไม่ได้ https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_6490621
[2] Fact Sheet : วัตถุอันตรายกับการแสดงฉลากตามระบบ GHS โดย กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย สํานักควบคุมเครื่องสําอางและวัตถุอันตราย สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา
https://cmu.to/YQi4H
[3] ข้อมูล Safety data sheet (SDS) ของ styrene
http://www.chemtrack.org/chem-detail.asp?ID=01937&CAS=&Name=
[4] ข้อมูล Safety data sheet (SDS) ของ PAHs
http://www.highpuritystandards.com/content/msds/organics/PAH-HM16C.pdf
[5] คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง สไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene Monomer) โดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม
https://cmu.to/wfJog
[6] ข้อมูลเกี่ยวกับสารสไตรีน
https://cmu.to/06zu-
[7] โรงอบลำไยระเบิดสู้คดี 17 ปี! ชาวบ้านชนะ จำเลยติดคุก ถามแล้วใครจะชดใช้
https://www.thairath.co.th/news/local/626803
[8] The chemistry behind the Beirut explosion
https://cen.acs.org/safety/industrial-safety/chemistry-behind-Beirut-explosion/98/web/2020/08
[9] ระเบิดดังสนั่น ร้านขายปุ๋ย หน้าวัดพระธาตุศรีจอมทอง ไหม้วอดทั้งอาคาร
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_6442027
[10] ศูนย์บริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
https://she.cmu.ac.th/



แกลลอรี่