มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปรับใช้พื้นที่หอหญิง 5 ของมหาวิทยาลัย จำนวน 300 เตียง เป็นโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ 2 ใช้เป็นสถานที่ดูแลนักศึกษาและบุคลากรที่ติดเชื้อโควิด-19 ตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรคติดต่อ พร้อมทีมบุคลากรทางการแพทย์ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
จากสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่แพร่ระบาดมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นที่รองรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้เปิดใช้พื้นที่หอหญิง 5 ของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหอพักที่ปรับปรุงใหม่ยังไม่ได้เปิดใช้งาน เป็นโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ 2 เป็น Cohort Ward หรือหอผู้ป่วยรวมของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับดูแลนักศึกษาและบุคลากรตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรคติดต่อ และแบ่งเบาความแออัดของโรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ 2 (หอหญิง 5 มช.) รองรับผู้ป่วยได้ 300 เตียง ภายใต้การดูแลจากทีมบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ได้มีการจัดตั้งส่วนงานต่าง ๆ ให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น แผนกตรวจและคัดกรองผู้ป่วยด้วยรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ ที่สามารถฉายรังสีเพื่อตรวจสอบปอดของผู้ป่วย จุดคัดกรองสิ่งของที่บุคคลภายนอกฝากให้ผู้ป่วย จุดเตรียมอาหารสำหรับผู้ป่วย ศูนย์บริหารจัดการเจ้าหน้าที่พยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วย ห้องยาที่จำเป็นเบื้องต้นพร้อมเภสัชกรเพื่อจ่ายยาให้ผู้ป่วย บุคลากรทางแพทย์ที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยที่กำลังจะเข้าพัก โดยการติดต่อผ่าน Line Official Account ที่ชื่อว่า ‘Q&A กับหมอสวนดอก’ โดยการปฏิบัติงานในพื้นที่โรงพยาบาลสนามนี้ มีมาตรการในการป้องกันโรคที่เคร่งครัดเช่นเดียวกับโรงพยาบาลทั่วไป เช่น การสวมใส่ชุดป้องกันโรคของเจ้าหน้าที่ การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ การแยกขยะติดเชื้อออกจากขยะทั่วไป
เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลสนามจะต้องลงทะเบียนผ่าน QR Code ของโรงพยาบาลสนาม เพื่อเข้าสู่การดูแลผ่านทางระบบ Telemedicine รวมถึงมีการปฐมนิเทศเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวขณะเข้ารักษา ทั้งนี้โรงพยาบาลสนามได้มีการจัดเตรียมของใช้จำเป็นให้ผู้ป่วย ได้แก่ ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน หมอนและปลอกหมอน เสื้อ กางเกง ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้าสบู่ แชมพู ยาสีฟัน อาหาร 3 มื้อ น้ำดื่ม ของว่าง ถุงหิ้ว ถุงขยะ นอกจากนี้ในแต่ละชั้นจะมีตู้เย็นสำหรับแช่อาหาร เครื่องดื่ม ตู้ปันสุข สำหรับเสื้อผ้าที่ใช้แล้วผู้ป่วยจะนำใส่ถุงซึ่งเป็นถุงชนิดพิเศษที่สามารถละลายน้ำเมื่อนำเข้าเครื่องซักแบบใช้ความร้อน โดยไม่ต้องแกะถุงเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ทีมแพทย์โรงพยาบาลสนามจะติดตามสอบถามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดทุกวันผ่านระบบ Telemedicine หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจะส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่อย่างทันท่วงที
หากนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับแจ้งว่าผลตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 เป็นบวก ให้กักตัวอยู่ที่ห้องพัก รอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ และกรอกข้อมูลที่ลิงก์ https://cmu.to/ReportCoV19PCRTest หากมีอาการเหนื่อยหอบติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ 090-892-5623, 064-174-6183
นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังอำนวยความสะดวก โดยได้มีการเปิดช่องทางให้ข้อมูลข่าวสารและประสานความช่วยเหลือผ่าน Call Center ที่หมายเลข 082-097-3957, 082-017-5724 และ 084-013-2624 ช่องทางออนไลน์ ถาม-ตอบ ด้วย Inbox Facebook และ Line พร้อมทั้งประเด็นคำถามถามบ่อยเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมดูแลนักศึกษาและบุคลากรให้ปลอดภัยตามมาตรฐานการรักษา ขอให้ทุกท่านร่วมกันปฏิบัติตนด้วยความระมัดระวังอย่างสูงสุด ด้วยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ขอให้ทุกท่านปลอดภัยและผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน และเมื่อสถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติ มหาวิทยาลัยจะดำเนินการทำความสะอาดหอพักให้ปลอดเชื้อเป็นที่เรียบร้อยต่อไป
ภาพ : คณะแพทยศาสตร์ มช.