“คิดถึงเชียงใหม่” แนวคิดการฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19

30 พฤษภาคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชูโครงการ Gastronomy tourism ภายใต้แนวคิด “คิดถึงเชียงใหม่” มุ่งพัฒนาเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนาแบบใหม่ หรือ Chiang Mai Gastronomy Culture ฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19


มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอแนวคิดแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19 และการบรรยายสรุปการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวสรุปแนวทางนโยบายภาพรวมของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการแก้ปัญหาหลังวิกฤติโควิด-19 รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ เสนอโครงการ Gastronomy tourism (การท่องเที่ยวเชิงอาหาร) เพื่อใช้อาหารท้องถิ่นเป็นจุดขายในด้านการท่องเที่ยว และ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐา โพธาภรณ์ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ นำเสนอโครงการ Precision Agriculture (การทำการเกษตรแบบแม่นยำด้วยเทคโนโลยี) เพื่อเป็นการมุ่งไปสู่การเกษตรที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในระบบการผลิตที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมรับฟัง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องประชุม ตะวัน กังวานพงศ์ อาคารยุทธศาสตร์ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอแนวคิดแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19 ในโครงการ Gastronomy tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยหยิบยกความอร่อยของอาหารในท้องที่ต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นตัวชูโรงร่วมกับการท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด Lanna Gastronomy “คิดถึงเชียงใหม่” มีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนาแบบใหม่ หรือ Chiang Mai Gastronomy Culture มุ่งเน้นการพัฒนา 3 ด้าน คือ ด้าน “Molecular Agriculture” เป็นการส่งเสริมรูปแบบการปลูกและจัดการวัตถุดิบท้องถิ่นแบบแม่นยำ มีการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรเชิงอาหาร และมีวัตถุดิบอาหารที่ปลอดภัยด้วยการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการสืบย้อนหลัง ด้านต่อมาคือ “Gastronomy Food Coding” เป็นการพัฒนาอาหารล้านนาด้วยวิทยาศาสตร์ การถอดรหัสนวัตกรรมอาหารล้านนา และการยกระดับอาหารล้านนาสู่มิชลินสตาร์ และด้านสุดท้ายคือ “Chiang Mai Food Destination” โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้ประกอบการธุรกิจบริการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่


โครงการ Gastronomy tourism เกิดจากการระดมความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่ต้องการฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังวิกฤติโควิด-19 โดยนำเสนอของบประมาณจากรัฐผ่านจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 50,000,000 บาท โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี และคาดว่าเมื่อดำเนินการแล้วจะทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการ อันได้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้ประกอบการธุรกิจบริการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีรายได้เพิ่มขึ้น รวม 500 ล้านบาท เป็นการสร้างภาพลักษณ์เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนาแบบใหม่ หรือ Chiang Mai Gastronomy Culture และเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวคุณภาพในปี 2564 จำนวน 50,000 คน

แกลลอรี่