ด้านการศึกษา

8 พฤษภาคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กำหนดเลื่อนการเปิดภาคการศึกษาที่ 1/2563 โดยเปิดภาคเรียนในวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 จะเป็นการเรียนการสอนในห้องเรียน ในรูปแบบของ New Normal ทั้งการจัดห้องเรียนที่ได้มาตรฐานตามหลักของกระทรวงสาธารณะสุข มีการเตรียมเจลล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย วัดไข้ก่อนเข้าห้องเรียน และมาตรการ Social Distancing และอื่นๆ เพื่อดูแลสุขภาพความปลอดภัยของนักศึกษาและอาจารย์จาก COVID-19

* มหาวิทยาลัยมีความยืดหยุ่นในรูปแบบกระบวนการสอนและวิธีการวัด ประเมินผลคุณภาพการจัดการเรียนการสอนมากน้อยแค่ไหน

อาจารย์สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนและการวัดผลประเมินผลเป็นรูปแบบอื่นๆ ทดแทนรูปแบบเดิมได้ตามความเหมาะสม โดยให้คำนึงถึง learning outcomes ของกระบวนวิชาเป็นสำคัญ


* การสอน Online คิดภาระงานเท่ากับการสอนในชั้นปกติหรือไม่

การคิดภาระงานการสอน online คิดภาระงานในรูปแบบเดียวกับการสอนในชั้นเรียน หรือปฏิบัติการ (ยึดตามรูปแบบของหน่วยกิต ของแต่ละกระบวนวิชาเป็นหลัก) เนื่องจากการสอน online คือการปรับรูปแบบการสอน ซึ่งอาจารย์ยังคงต้องมีกิจกรรมจัดการเรียนรู้ให้นักศึกษา แต่รูปแบบกิจกรรมอาจเปลี่ยนไป


* หากมีการจัดการที่เปลี่ยนไป เช่น ยุบตอนต่างๆ แล้วบรรยายรวม จะนับว่าอาจารย์ทำงานน้อยลงหรือไม่

การคิดภาระงานจะคิดตามชั่วโมงการทางานที่เกิดขึ้นจริง หากมีการยุบตอนลงและบรรยายรวม ก็คิดภาระงานตามชั่วโมงการทำงานจริง แต่จะได้ตัวคูณเพิ่มเติมในส่วนของจำนวนนักศึกษา (X) ที่เพิ่มขึ้น
กรณี X = 1-50 ตัวคูณ 1.0
กรณี X > 50 ตัวคูณ 1.0 + (0.0066*(X-50))
กรณี X > 200 ตัวคูณ 2.0


* การทำสื่อ Online นับเป็นภาระงานอย่างไรได้บ้าง เพราะกินเวลาอาจารย์ค่อนข้างมาก

การจัดทำสื่อออนไลน์ คิดภาระงานเช่นเดียวกับ สื่อการสอนระบบ e-learning ซึ่งกำหนดไว้แล้วที่ 100 ชั่วโมงทำงานต่อรายวิชา

* การสอน online ดูเหมือนทำให้ความผูกพันที่นักศึกษามีต่อคณะนั้นลดลง ดังนั้นในอนาคตหากยังคงต้องสอนในลักษณะนี้ ทางมหาวิทยาลัยมีแนวทางในการแก้ไขจุดนี้อย่างไร

คณะควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการสร้างความผูกพันกับนักศึกษาผ่านระบบออนไลน์ โดยออกแบบกิจกรรมพัฒนานักศึกษาให้เกิดการมีส่วนร่วมผ่านระบบออนไลน์ โดยใช้ช่องทางออนไลน์ต่างๆ ในการพบปะนักศึกษาออนไลน์

* ถ้าต้องสอน Online จะทำอย่างไรได้บ้างให้เกิดการเรียนแบบ Active Online Learning

  • ยังคงใช้หลักการ Active Learning เดิมได้ เช่น ใช้เวลาในชั้นเรียนสร้างกิจกรรมที่มีการโต้ตอบ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม สำหรับในส่วนบรรยายอาจารย์บันทึกไว้ให้นักศึกษาเปิดดู
  • TLIC จะสร้างกรณีศึกษาเผยแพร่ต่อไป 

* เนื่องจากปฏิทินการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงบ่อย จะมีแนวทางการสื่อสาร กำหนดการต่างๆ ให้ทั่วถึงและไม่สร้างความสับสนอย่างไรบ้างหรือไม่

  • ยกเลิกปฏิทินปีการศึกษา 2563 เดิมทั้งหมด
  • ประกาศใช้ปฏิทินปีการศึกษา 2563 ฉบับใหม่แทน
  • สื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ (e-Doc และ website/facebook ของสำนักทะเบียนและประมวลผล และ มีทีมมอชอ กับ มช ทูเดย์ ช่วยประชาสัมพันธ์)
  • จัดส่งปฏิทินการศึกษาที่ปรับเปลี่ยน ให้อาจารย์และนักศึกษาผ่านทางอีเมล @cmu.ac.th

 



* มหาวิทยาลัยมีการกำหนดนโยบายการควบคุมการทุจริตการสอบออนไลน์หรือไม่

  • ขณะนี้ยังไม่มีนโยบาย แต่มีแนวทางในการควบคุมการทุจริตการสอบออนไลน์โดย TLIC ได้จัด webinar ให้อาจารย์ในเบื้องต้นแล้ว
  • แนวทางการจัดสอบ online ประกอบด้วย การเลือกเครื่องมือสอบ การเช็คชื่อและยืนยันตัวตน การใช้ Safe Exam Browser และการใช้ Remote Proctoring

* มหาวิทยาลัยมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การทำตำแหน่งของอาจารย์ใหม่หรือไม่ เนื่องจากไม่สามารถเก็บข้อมูลและดำเนินการได้ตามเป้าหมายจากผลกระทบ COVID-19

  • ยังใช้เกณฑ์ในการขอตำแหน่งวิชาการเช่นเดิม เนื่องจากมีเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำที่กพอ กระทรวง อว. กำหนดไว้
  • กรณีส่งผลกระทบต่อการตีพิมพ์ผลงาน ซึ่งจะทำให้กระทบเกณฑ์การเลิกจ้าง หรือไม่ได้ปรับขึ้นเงินเดือนตามระยะเวลาในการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ ให้เสนอเหตุผลพร้อมหลักฐาน เพื่อขอผ่อนผันมายัง กบ. ต่อไป
  • สำหรับแผนรองรับผลกระทบในระยะยาว กบ.ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการตามที่มหาวิทยาลัยเสนอให้เพิ่มรูปแบบการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ และเพิ่มประเภทของตำแหน่งวิชาการ เช่น

            - การเสนอขอตำแหน่งทางวิชาการในรูปแบบการใช้แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) 

            - ตำแหน่งวิชาการประเภทการสอน (Teaching tract)

            - ประเภทบริการวิชาชีพ (Professional/Clinical tract) 

โดยอยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาวิชาการ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการ เพื่อร่างข้อบังคับในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป


* มหาวิทยาลัยมีนโยบายเกี่ยวกับการจัดการเรียนวิชาที่เป็นภาคปฏิบัติอย่างไรบ้าง
- วิชาปฏิบัติการหรือ lab ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ และสถานที่เฉพาะ

  • ปรับรูปแบบ จัดให้มีกระบวนวิชาเทียบแทน

- การฝึกงาน หรือสหกิจศึกษาซึ่งอาจเป็นกิจกรรมบังคับในหลักสูตร

  • ปรับรูปแบบ จัดให้มีกระบวนวิชาเทียบแทน หรือเลือกแผนการเรียนอื่น

กรณีบางคณะที่นักศึกษามีการต้องขึ้นหอผู้ป่วย ให้ปรับกระบวนวิชาที่เป็นการบรรยายมาเรียนก่อน ส่วนวิชาฝึกปฏิบัติจะย้ายไปอยู่ช่วงท้าย หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข

* ถ้าอนุญาตให้เปิดสอนวิชาปฏิบัติในชั้นได้ จะมีมาตรการอะไรที่ต้องปฏิบัติบ้าง จึงจะอนุญาตให้จัดการเรียนการสอนได้
- จะยึดหลัก Social Distancing อย่างไร
กรณีสถานการณ์คลี่คลาย และสามารถเข้าชั้นเรียนได้

  1. จัดให้มีจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิ จุดบริการเจลแอลกอฮอล์ หรือจุดล้างมือด้วยน้ำ สบู่ ในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางตามความเหมาะสม
  2. อาจารย์ นักศึกษา บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เข้าชั้นเรียน
  3. ทำความสะอาดบริเวณพื้นที่จุดสัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ตามความเหมาะสมของความถี่ในการใช้งานพื้นที่
  4. กำหนดช่องทางการเข้าออก เพื่อให้สามารถคัดกรองบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. จัดให้มีการระบายอากาศที่หมุนเวียน ถ่ายเทได้ดี เปิดประตู หน้าต่าง หรือพัดลมดูดอากาศ 

การจัดการเรียนการสอนทุกระดับ ให้จัดจำนวนนักศึกษาในห้องเรียน/ห้องปฏิบัติการให้สามารถเว้นระยะห่างของผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม (อย่างน้อย 1.5 เมตร) ทั้งนี้ อาจต้องเพิ่ม section ในการจัดการเรียนการสอน
ทั้งนี้ ในกรณีการสอนบรรยาย อาจเพิ่ม section หรือสามารถบริหารจัดการโดยใช้วิธีถ่ายทอดสดการเรียนการสอนไปอีกห้องเรียนหนึ่งได้
- ต้องจำกัดความหนาแน่นของผู้เรียนต่อตารางเมตรหรือไม่ ถ้าจำนวนห้องเรียนไม่พอจะทำอย่างไร

  • กรณีห้องเรียนไม่พอ ให้บริหารจัดการตารางสอน เพื่อจัดเวลาการใช้ห้องเรียน/ห้องปฏิบัติการ ไม่ให้ทับซ้อนกัน

- การจัดการหากต้องมีการเดินทางเป็นกลุ่ม

  • ต้องมีการคัดกรองผู้ร่วมเดินทางเพื่อไม่ให้เกิดสภาวะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เช่น คัดกรองผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง หรือผู้ที่มีอาการไข้ เป็นต้น
  • จัดจำนวนนักศึกษาในการเดินทางร่วมกันบนรถ ให้สามารถเว้นระยะห่างได้อย่างเหมาะสม
  • อาจารย์ นักศึกษา บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  • จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์ บนรถ และให้นักศึกษาล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ 

* มหาวิทยาลัยจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักศึกษาและอาจารย์ได้อย่างไร ว่าถ้ากลับมาเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วจะไม่ก่อให้เกิด Second Wave ของการแพร่ระบาด จะมีแนวปฏิบัติในการรักษาสุขอนามัย การตรวจคัดกรองคนเข้าออกอาคาร การรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างไรบ้าง
การป้องกันการเกิด Second Wave ของการแพร่ระบาด COVID-19 ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ในการรักษาสุขอนามัย ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาระยะห่าง Social Distancing ทำความสะอาดห้องเรียนบ่อยๆ และหากเดินทางมาจากจังหวัดที่มีความเสี่ยงจากประกาศของกรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือให้กักตัว 14 วัน

* มหาวิทยาลัยมีนโยบายในการสนับสนุนอุปกรณ์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนอย่างไรบ้าง เด็กที่ไม่มีคอมพิวเตอร์เป็นของตนเองจะทำอย่างไร

  • มหาวิทยาลัยสนับสนุน SIM Internet ฟรี 3 เดือนสำหรับนักศึกษาทุกคน
  • จัดหา Notebook เพื่อให้คณะนำไปให้แก่นักศึกษายืมใช้ได้
  • จัดหา Tablet และ notebook ราคาพิเศษ และผ่อนชำระ 0% นาน 12 เดือน โดยไม่มีดอกเบี้ย
  • จัดหาอุปกรณ์ไอทีสำหรับให้นักศึกษาสามารถซื้ออุปกรณ์ในราคาพิเศษผ่านทาง e-Market Place โดย Shopee ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ประสานโค๊ดส่วนลดสำหรับนักศึกษา มช. 

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้จัดเตรียม Wifi รองรับการการเรียนการสอน Online ครอบคลุมทั้งมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง

* มหาวิทยาลัยจะมีข้อปฏิบัติกลางให้กับนักศึกษาในการเตรียมตัวเรียน Online หรือไม่ เช่น เข้าเรียนที่ใด ใช้เครื่องมืออะไรบ้าง
มหาวิทยาลัยได้จัดหา Plate Form กลางเป็นห้องเรียนเสมือน โดยใช้โปรแกรม Moodle Google Classroom และ Microsoft Teams ผสานกับสำนักทะเบียนและประมวลผล รวบรวมรายวิชาทั้งหมดที่จะเปิดสอนในเทอมหน้าเข้ามาไว้ในระบบ สามารถ Log in เพื่อเข้าไปดูรายละเอียดด้วย CMU account @cmu.ac.th
เครื่องมือสนับสนุนการเรียน online


* ความพร้อมของระบบการประชุมออนไลน์ เช่น Zoom และระบบ internet ของมหาวิทยาลัย เพียงพอที่จะใช้ในการเรียนการสอน online หรือไม่

  • มหาวิทยาลัย มี Zoom License จำนวน 3,000 licenses ซึ่งเพียงพอสำหรับอาจารย์ทุกคนที่จะใช้พบปะหรือสอนผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนั้น ยังมีเครื่องมือสาหรับการเรียนการสอนออนไลน์อื่นๆ ทั้งในส่วนของ Moodle, Google classroom, Microsoft teams
  • ระบบเครือข่ายความเร็ว พื้นที่ครอบคลุม Wifi มช. ค่อนข้างดี แต่อาจต้องแนะนำนักศึกษาเลือกจุด 

* ในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ หากใช้การจัดซื้อจัดจ้างโดยงบประมาณของหน่วยงานตามปกติอาจทำให้เกิดความล่าช้า เนื่องจากต้องรองบประมาณในปีถัดไป มหาวิทยาลัยมีแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

  • มหาวิทยาลัยได้เปิดโอกาสให้ส่วนงานสามารถปรับเปลี่ยนแผนงบประมาณทั้งการปรับงบประมาณรายรับ และงบประมาณรายจ่าย รวมถึงการขอนำเงินสะสมของส่วนงานมาใช้ได้ตามเหตุผลและความจำเป็นได้ตลอดเวลา เพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยในการอนุมัติ โดยไม่ต้องรองบประมาณในปีถัดไป

* หากต้องมีการจัดการเรียนรู้ Online อย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยจะสนับสนุนอย่างไรบ้าง
- จะมีสถานที่ให้สามารถสอนออนไลน์ได้โดยง่ายหรือไม่

  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ (TLIC) มีการจัดตั้งโครงการการเรียนการสอน online รองรับไว้อยู่แล้ว โดยมีสตูดิโอที่อาจารย์ผู้สอนสามารถไปใช้งานได้ที่ ITSC คณะพยาบาลศาสตร์ และสตูดิโอที่กำลังจะเปิดเร็วๆ นี้ คือ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์
  • TLIC จะมีการเผยแพร่ชุดเครื่องมือ เช่น Ez Studio ให้กับคณะ และอาจารย์ โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ Youtube : TLIC 

-จะมีการสนับสนุนเครื่องมือตลอดจนโปรแกรมในการสอนออนไลน์ของอาจารย์แต่ละคณะหรือไม่

  • มีห้อง self-studio ให้บริการ

-จะมีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อสนับสนุนเรื่องการจัดทำสื่อการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้หรือไม่ และอาจารย์ 2,000 คนในมหาวิทยาลัยจะขอใช้บริการได้อย่างไร

  • ITSC มีฝ่ายผลิตสื่อที่สามารถแนะนำ ให้คำปรึกษาอาจารย์ได้ นอกจากนั้น อาจารย์ยังสามารถบันทึกสื่อออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่าน EZ studio

- มีอาจารย์ที่ไม่เชี่ยวชาญการสอนในรูปแบบ online อยู่จำนวนมาก มหาวิทยาลัยจะช่วยเหลืออาจารย์กลุ่มนี้ได้อย่างไร

  • TLIC มีแผนการจัดอบรมเป็นระยะ และจะปรับให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น สร้าง Webinar หรือ Online Course


** เพิ่มเติม **

- การสอนรูปแบบนานาชาติมีแนวทางอย่างไร
การรับเข้า การสอบ การรายงานตัว เป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด โดยเมื่อเปิดเทอมแล้วการดำเนินการจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคณะ

- มีการเตรียมสำหรับนักศึกษาพิเศษอย่างไร
มหาวิทยาลัยได้เตรียมเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง มีหอพักสำหรับนักศึกษาพิเศษ มีทางลาด บางท่านพิการเฉพาะร่างกาย สามารถเรียนได้ แต่หากเป็นทางสายตาคงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป นอกจากนี้ กองพัฒนานักศึกษา ได้จัดบัดดี้คอยช่วยเหลือเพื่อนนักศึกษาพิการเหมือนเช่นปกติ

แกลลอรี่