ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ ดร.กรรณิการ์ อินต๊ะวงศ์ อาจารย์ประจำ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม หัวหน้าทีมสอบสวนโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) ในสังกัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ (อว) ได้ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยโควิดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อศึกษาหาประสิทธผลของวัคซีนต่อการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการเสียชีวิตด้วยโรคโควิด ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ต่อเนื่องมาจนถึง 31 มกราคม 2565 โดยดึงข้อมูลของผู้ป่วยโรคโควิดที่ได้รับการตรวจแลปยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 เปรียบเทียบกับผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเดินทางไปในสถานที่เสี่ยงที่พบการแพร่ระบาด เช่น ตลาด หรือร้านอาหาร หรือในครอบครัว เป็นต้น แต่มีผลตรวจเป็นลบ เพื่อคำนวณหาประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการเสียชีวิตในผู้ป่วยจากโรคโควิด
ผลการศึกษา พบว่า ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม จนถึงเดือนธันวาคม 2564 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสายพันธุ์หลักที่มีการระบาดในช่วงเวลาดังกล่าวยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า มีจำนวนผู้ป่วยโควิดที่รายงานอย่างเป็นทางการ จำนวน 19,235 ราย เสียชีวิต 154 ราย คิดเป็น 0.8% โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี มักมีโรคประจำตัวร่วมอยู่ด้วย และเป็นผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนสูงถึง 80% ในผู้ป่วยที่เสียชีวิต นอกนั้นได้รับวัคซีน 1 เข็ม 12% ได้รับวัคซีน 2 เข็ม 8% และไม่พบผู้เสียชีวิตที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ส่วนในเดือนมกราคม 2565 มีรายงานผู้ป่วยโควิดทั้งที่ตรวจยืนยันด้วยวิธี rt-PCT หรือตรวจด้วย ATK โดยหน่วยบริการ ในจังหวัดเชียงใหม่รวม 15,961 ราย แต่มีผู้เสียชีวิตเพียง 12 ราย (ณ.วันที่ 6 กพ 2565) คิดเป็น 0.075% โดยผู้เสียชีวิต 9 รายเป็นผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี และ เป็นผู้ที่ไม่มีประวัติฉีดวัคซีนประมาณ 50% ฉีดวัคซีน 1 เข็ม 33% ฉีด 2 เข็ม 17% และไม่พบผู้เสียชีวิตที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มเช่นเดียวกัน จากการส่งตรวจสายพันธุ์ของผู้เสียชีวิตในช่วงกลางเดือนมกราคม 2565 จำนวน 3 ตัวอย่าง พบว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์โอไมคร่อนทั้งหมด
เมื่อวิเคราะห์หาประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด โดยวิเคราะห์เฉพาะผู้ป่วยโควิดเปรียบเทียบกับกลุ่มสัมผัสที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และเป็นคนไทย ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ในช่วงเดือนตุลาคม ถึง ธันวาคม 2564 ผู้ที่ได้รับวัคซีนจำนวน 2 เข็ม มากกว่า 14 วันขึ้นไป สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อฯได้ประมาณ 71% ในวัคซีนเกือบทุกสูตร ส่วนวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อได้สูงประมาณ 93% ในวัคซีนทุกสูตรรวมถึงวัคซีนสูตรไขว้ 2SV 1AZ และ 1SV 2AZ และที่สำคัญคือช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้มากกว่า 97% ในผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 และ 99% ในผู้รับวัคซีน 3 เข็ม
แต่เมื่อติดตามวิเคราะห์ข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีน ในช่วงเดือนมกราคม 2565 ซึ่งการระบาดในพื้นที่เชียงใหม่โดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะช่วงครึ่งเดือนหลัง มากกว่า 80% จะเป็นสายพันธุ์โอไมคร่อน พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม จะไม่มีผลต่อการป้องกันการติดเชื้อฯได้เหมือนก่อนหน้านี้ แต่ยังช่วยลดการตายได้กว่า 89% แต่หากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือฉีดเข็มที่ 3 ยังสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ประมาณ 68% (ระหว่าง 62%-78%) และยังช่วยลดการตายได้ดีมากถึง 96% เมื่อวิเคราะห์ชนิดของสูตรวัคซีน 3 เข็ม ต่อการป้องกันการติดเชื้อ พบว่า ทุกสูตรหลักที่มีการใช้ในประเทศไทย ได้ผลไม่แตกต่างกัน อยู่ที่ประมาณ 62% ถึง 78% รวมถึงสูตร 2SV 1AZ และ 1SV 2AZ ที่เป็นสูตรไขว้ และวัคซีนสูตร mRNA ที่มีการใช้ค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมาในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวไม่ได้แตกต่างจากผลการศึกษาประสิทธผลของวัคซีนป้องกันโควิดในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ อังกฤษ และอิสราเอล ที่ใช้วัคซีนขนิด mRNA เป็นหลัก ที่พบว่าวัคซีน 2 เข็ม ไม่ช่วยในการป้องกันการติดเชื้อ ส่วนวัคซีน 3 เข็ม สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ 50-75% และช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ 85-99% ที่เพิ่งจะเผยแพร่ออกมาในระยะเวลาใกล้เคียงกันกับผลการศึกษาในครั้งนี้ที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอใคร่อนที่ส่วนใหญ่
จากผลการศึกษาดังกล่าว จึงควรเร่งรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยเร็ว ทั้งนี้วัคซีนสูตร 3 เข็มทุกชนิดที่กำหนดให้ใช้ในประเทศไทยยังพอมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีระดับหนึ่งแม้จะเป็นสายพันธุ์โอไมคร่อน แต่ที่สำคัญคือช่วยป้องกันอาการรุนแรงและการตายได้ค่อนข้างสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย SV หรือวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ AZ หรือ mRNA ก็ได้ผลไม่แตกต่างกัน รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ให้เข้ามารับการฉีดวัคซีนโดยเร็วโดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย ควบคู่ไปกับมาตรการการป้องกันตนเอง โดยการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก ๆ จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดเชียงใหม่จะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
เขียนโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่ 8 กพ 2565
..............................................................